วิเคราะห์ข่าวในวงการเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดภาคอีสาน
เล่มที่ 7
ประจำเดือน กันยายน-ตุลาคม-พฤศจิกายน 2540
1. หน้าบอกสถานะของเรา
2. คติธรรมคำสอนของสมเด็จพระสังฆราช
3. บทบรรณาธิการ เราจะปรับปรุงวิเคราะห์ข่าวใหม่
4. บันทึกสถานการณ์
5. ตรงนี้มีความหมาย มาตรา 170
6. จดหมายถึงบรรณาธิการ ปัญหาการดูพระอริยบุคคล
7. คอลัมน์จดหมาย ถึงองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
8. วิเคราะห์ข่าวการศึกษาสงฆ์
9. ศน.ลุ้นการศึกษาคณะสงฆ์ บทวิเคราะห์ อะไรคือการศึกษาของสงฆ์
10. บทวิเคราะห์ การสถาปนามหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก
11. กัลยาณมิตร ท่านยังไม่รู้จักพุทธทาสภิกขุ 5
12. วิเคราะห์ การสถาปนามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก
13 ประวัติของผมฯ พระพยับ ปญฺญาธโร (3)
14. เจ้าภาพประจำเดือน
15. แบบสำรวจข้อมูล
16. เครื่องหมายประชาธิปไตยสงฆ์
17. ข่าวปกหลัง
หน้าบอกสถานะของเรา
เล่ม 7
วิเคราะห์ข่าวในวงการเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดภาคอีสาน รายคาบ
วัตถุประสงค์ เพื่อการนำความคิดไปสู่ความดีงาม
ประจำเดือน กันยายน-ตุลาคม-พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๐
คณะที่ปรึกษา ดร.นันทสาร สีสลับ
-กรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์ สสร. ศรีสะเกษ
-อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
-ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรม แห่งชาติ
-เลขาธิการสมัชชาศิลปวัฒนธรรมไทย
-กรรมการอำนวยการ และ เลขานุการองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์ แห่งโลก
บรรณาธิการ : พระพยับ ปญฺญาธโร
-ปญฺญาธโรภิกฺขุ พระผู้มีปกติอยู่ด้วยอิริยาบถ 3
-อดีต ร.อ.พยับ เติมใจ กองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า
-อดีตเจ้าอาวาสวัดโนนน้อย
-อดีต รก.เจ้าอาวาสวัดโคกกลาง
-อดีตเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ
-(อดีต) ผู้จัดการ ร.ร.พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา วัดมหาพุทธารามวิทยา
-ที่ปรึกษาพุทธสมาคมจังหวัดศรีสะเกษ
-กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ
-เลขาธิการมูลนิธิพระเทพวรมุนี(เสน ปญฺญาวชิโร)
กองบรรณาธิการ มหาเก่า เข่าขี้เมี่ยง เซียงบ้านนอก
-นายแสงทอง มะลิวงษ์
-เลขานุการองค์การบริหารส่วนตำบลฮ่องข่า
-อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านดีเด่น(อปม.ดีเด่น) ประจำปี ๒๕๔๐
ของจังหวัดศรีสะเกษ
-ประธานอาสาสมัครแจ้งข่าวอาชญากรรม กรมตำรวจ
-หมอดินอาสา กรมพัฒนาที่ดิน (ประธานรุ่น)
-กรรมการศึกษาดีเด่น ร.ร.บ้านฮ่องข่า
-อาสาสมัครสาธารณสุข ม.8 ต.หนองอึ่ง
-อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ 2 สมัย และ
-ไวยาวัจกรวัดบ้านฮ่องข่า
โลเกก แห่ง น.ส.พ..ประชาธิปไตย
พิมพ์ที่ : มูลนิธิพระเทพวรมุนี(เสน ปญฺญาวชิโร) -วัดมหาพุทธาราม ถนนขุขันธ์ อำเภอเมือง ศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ๓๓๐๐๐
โทร-โทรสาร : (๐๔๕) ๖๒๒๔๕๕
-ติดต่อสะดวกที่ ตู้ ปทจ.5 ศรีสะเกษ 33000
การแจกจ่าย
- เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ
-วงการสงฆ์
-วงการบริหารบ้านเมือง
-หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์
คติธรรมคำสอน สมเด็จพระสังฆราช
"ประยัดทรัพย์ให้เหมือนกับประหยัดตัวจะพ้นสภาพน่ากลัวคือตกยาก"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐
บทบรรณาธิการ
วิเคราะห์ข่าวในวงการเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดภาคอีสาน ฉบับรวม ๓ เดือนกันยายน-ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ต้อนรับเทศกาลกฐิน
คณะผู้ดำเนินงานวิเคราะห์ข่าวฯ ต้องขออภัยท่านผู้อ่าน เป็นอย่างมากที่อยู่ ๆ ก็ขาดหายไปอย่างผิดปกติโดยไม่มีการแจ้งเบาะแสล่วงหน้า เราไม่มีเหตุผลอะไรมากนัก นอกไปจากว่า มาถึงจังหวะอันเหมาะสมสำหรับการเว้นว่างของงานภายในความคิดความอ่านของทั้งฝ่ายจัดทำและฝ่ายผู้อ่าน ซึ่งทางฝ่ายเราคาดว่าจักเป็นผลดีในแง่ที่ได้เปิดโอกาสให้ความว่างได้เข้ามาแทรกมาคั่นในช่วงเวลาอันเหมาะสมอันอาจเกิดปฏิกริยาทางจิตที่สามารถก่อประกายอันเจิดจ้าทางปัญญาขึ้นได้
เรื่องที่จะขอรายงานก็คงต้องเป็น การสำรวจข้อมูล ที่ได้รบกวนท่านผู้อ่านให้แสดงความคิดความเห็นหรือสะท้อนสิ่งที่อยู่ในความนึกความคิดของท่านกลับไปให้คณะผู้จัดทำได้ทราบได้อ่านเอา
เราได้รับแบบฟอร์มการสำรวจข้อมูลกลับคืนมาจำนวนหนึ่ง คิดเป็น ๒๔ % ของแบบสำรวจที่ส่งออกไปทั้งหมด จะขออนุญาตพูดถึงเรื่องนี้ในรายละเอียดฉบับหน้า แต่ขณะนี้อาจเรียนให้ทราบว่า เราสามารถอ่านได้ความหมายที่สำคัญมากทีเดียว จนได้ข้อสรุปสำหรับเป็นแนวทางการตัดสินใจในบางเรื่องบางประเด็นแล้ว แต่กระนั้นเราก็ยังคงจะขอรับฟังความคิดเห็นของท่านผู้อ่านอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะความคิดอ่านของท่านผู้อ่านนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีความหมายเพียงดังกับว่า ท่านเป็นเราและเราเป็นท่านนั่นเทียว จึงขอความร่วมมือ หากท่านผู้อ่านได้เกิดเชาวน์ปัญญาหรือความคิดเห็นใดใดขึ้นมาแล้วขอได้โปรดกรอกแบบสำรวจที่ผนวกไว้ท้ายเล่มกลับมายังกองบรรณาธิการด้วย
และทางคณะผู้จัดทำมีความยินดีจะเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เราจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหนังสือวิเคราะห์ข่าวฯนี้ในหลาย ๆอย่าง
ในเล่มหน้า ท่านผู้อ่านจะได้พบหนังสือเล่มนี้ในชื่อใหม่ เพื่อให้ดีขึ้น ท่านจะได้พบชื่อใหม่ คือ หนังสือพิมพ์ดี ส่วนชื่อเก่าให้เป็นสร้อยในวงเล็บรวมแล้วจะเป็น
หนังสือพิมพ์ดี [ The DEE Paper]
(วิเคราะห์ข่าวในวงการเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดภาคอีสาน)
เราจะยกระดับการวิเคราะห์ไปสู่อีกระดับหนึ่ง คือระดับ ศาสนาสากล หรือการมองสถานการณ์สากลโลก สากลศาสนา อันจำเป็นที่ขาดไม่ได้เมื่อเราต้องเปิดสังคมเราต้อนรับกระแสแห่งโลกาภิวัตน์ อันเป็นยุคโลกที่ไร้พรมแดน สากลศาสนาแห่งโลกไร้พรมแดนจะปรับตัวกันอย่างไร พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกส์ ฯลฯ บรรดาความเชื่อใหม่ ๆ ที่กระเด็นกระดอนออกไปจากศาสนาหลัก บรรดาแนวคิด ความเชื่อที่เพี้ยนแผกไปจากหลักการแห่งศาสนาเดิม หรือจากหลักอริยสัจธรรมแห่งธรรมชาติ อันเป็นสากล หรือแม้กระทั่งความเชื่อเก่า ๆ เดิม ๆ อันล้าสมัย จะเริ่มเสื่อมถอยลงไปเองอย่างไร เรามี “ธรรมสามี” ผู้จะรับภาระหน้าที่ภาคส่วนแห่งปัญญาส่วนนี้ ที่จะมองสถานการณ์สากลแห่งศาสนาทั้งปวงในโลกยุคนี้ ว่าจะคลี่คลายขยายหรือลดน้อยถอยลงไปอย่างไร และเราจะต้อนรับสถานการณ์อย่างไร
เราจะแยกเรื่อง แยกบทวิเคราะห์ที่ยาวและเป็นประเด็นหลัก ๆ ออกไปจากหน้าบรรณาธิการ เช่นปัญหาการปฏิรูประบบสงฆ์ จะไปอยู่คอลัมน์”ประชาธิปไตยสงฆ์” เราจะเปิดคอลัมน์ใหม่ ๆ ที่มองสถานการณ์กว้างขวางออกไปกว่าเดิม คือ คอลัมน์เฝ้าดูวัฒนธรรมโลกจากจอแก้ว ซึ่งแท้จริงเป็นงานชิ้นพิเศษที่ท่านปัญญาธโรภิกขุได้จับทำมาก่อน อันเนื่องจากสถานการณ์สังคมผลักดันให้กระทำ เริ่มมาแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ บัดนี้เราจะยกเรื่องนี้เข้ามาอยู่ในกรอบของหนังสือพิมพ์ดี คอลัมน์สากลทางการศาสนาก็จะมีขึ้น นับจากหนังสือพิมพ์ดี ออกมาสู่สายตาสังคม
เราจะเปิดคอลัมน์พิเศษ คือคอลัมน์ “กำลังใจ” เพื่อให้กำลังใจแด่พวกเราชาวไทย คนไทยกันเอง ในยุคอันตรายนี้
สำหรับปัญหาเศรษฐกิจของชาติ เราขอแนะนำประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าว่า ควรมองสถานการณ์ด้วยสายตาของความยุติธรรมกันให้มาก ๆ หากมองด้วยสายตาอันเป็นธรรม ยุติธรรมแล้ว เราก็จะไม่เทียวกล่าวโทษใคร คนใด สถาบันใด องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ว่าเป็นตัวการแห่งความหายนะทางเศรษฐกิจของชาติในวันนี้
ขั้นตอนควรจะเป็นไปตามลำดับดังนี้
๑. ควรมองสถานการณ์ด้วยความเป็นธรรม ด้วยความเข้าใจในสุขและทุกข์ของผู้อื่นบ้าง อย่ามองแต่ตัวเอง อย่าเห็นเพียงส่วนเดียวคือทุกข์ของตนเองเท่านั้น แต่มองไกล มองออกไปด้วยสายตาอันกว้างขวางและลึกซึ้ง แล้วจะเห็น ความยุติธรรม และเห็นธรรม แล้วคงจะนำไปสู่การเห็นดังกล่าวคือ เราไม่ควรกล่าวโทษใคร ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ควรกล่าวโทษสถาบันใดสถาบันหนึ่ง เช่นสถาบันการเงิน ก็ไม่ควรกล่าวโทษเขามากไป หรือรัฐบาล ก็ไม่ควรกล่าวโทษรัฐบาลฝ่ายเดียวมากเกินไป ถ้าหากจะกล่าวโทษ ก็ควรกล่าวโทษสังคมไทยทั้งหมด หรือถ้าจะหาตัวการร้ายจริง ๆ จะกล่าวโทษก็ได้ คือ อวิชชา(ความโง่เขลา-ความไม่รู้ -ความด้อยพัฒนาการทางการศึกษา ความด้อยพัฒนาการทางปัญญา ของสังคมเรา)นั่นเอง
๒. สถาบันหลักของสังคม เนื่องจากเราพาหมู่ล้ำหน้าเตลิดเกินไปในสิ่งที่เราไม่รู้แจ้งชัดหรือมีความรู้น้อย จนเกิดความผันผวนเป็นภัยอันตรายใหญ่ขึ้น ให้เร่งรีบพาหมู่เหล่าถอยกลับมาอย่างมีระเบียบเป็นแถวเป็นแนว สถาบันสงฆ์(ควรจะทั่วโลก)ถอยกลับมาสู่ป้อมปราการอันมั่นคงของเราคือ ความสันโดษให้ได้ก่อนแล้วบ่ายหน้าไปทางมรรคผล ก็จะพ้นทุกข์ทั้งปวง จะกลายเป็นจิตวิญญาณหลักของสังคมประเทศชาติ ฝ่ายอาณาจักร พาประชาชนทั้งประเทศถอยกลับมาสู่วัฒนธรรมอันดั้งเดิมของไทย อย่างพร้อมเพียงกันก่อน พอตั้งหลัก แล้วค่อยพัฒนาไปในวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์หรือวัฒนธรรมพุทธแท้ต่อไปก็จะแก้ปัญหาได้ แท้ที่จริงเพียงรำลึกถ้อยคำสุภาษิตง่าย ๆ ไม่กี่ประโยค คือ “ประหยัดทรัพย์ให้เหมือนประหยัดตัว จะพ้นจากสภาพน่ากลัวคือตกยาก” ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ “สอนลูกให้ประหยัด ขจัดวัตถุนิยม ชื่นชมความเป็นไทย” ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และ “ไทยช่วยไทย กินของไทย ใช้ของไทย เที่ยวเมืองไทย ร่วมใจประหยัด” ของรัฐบาลไทยยุคอันตราย ก็จะสามารถตั้งหลักได้
๓. แสวงหามิตรให้มาก ๆ จงดูว่าใครเป็นมิตรแท้ ใครเป็นมิตรเทียมในยามยาก(สังเกตดูอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ) จงดูว่าใครเป็นกัลยาณมิตร ผู้เป็นมิตรแท้ตลอดกาล ก็จงคบหากับผู้นั้นเถิด
๔. รีบเร่งพัฒนาการศึกษา รีบเร่งปรับปรุงพัฒนาระบบคุณธรรม ยกระดับสถาบันการเมืองและนักการเมือง(จากหมอความเป็นครู-อาจารย์ จากครู-อาจารย์เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ นักวิชาการฯลฯ) เร่งปรับปรุงปฏิรูประบบการสงฆ์ อันเป็นสถาบันจิตวิญญาณของชาติ(จากพระมียศฐาบรรดาศักดิ์ เป็นนักบวชสันโดษ เป็นพระอริยบุคคล)
ควรจะเข้าใจแนวโน้มทิศทางแห่งสถานการณ์โลกโดยรวมว่า โลกนับวันจะเสื่อม ลงไปตามลำดับ ตามเหตุและผลที่เห็นชัดเจนด้วยสติปัญญามนุษย์อยู่แล้ว สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ร้ายขณะนี้ ใช่ว่าจะวันสองวัน ปีสองปี อย่างน้อยก็ ๕-๗ ปีข้างหน้าเรายังจะต้องทนทุกข์ และทุกข์ครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เพียงดังว่าเสียเมืองเสียปราสาท
ในต้นสมัยรัชกาลที่ ๑ หรือจำแขนขาดเพื่อรักษาตัวในรัชกาลที่ ๕ ประชาชนต้องตั้งอยู่ในความดี มีเบญจศีลมีเบญจธรรมให้ได้เท่านั้นจึงจะรอด หรือเพียงถือศีลข้อที่ ๑ เพียงข้อเดียวให้ได้ก็รอดได้ เพราะเราต้องรักษาความมั่นคงของสังคม อย่าให้เกิดความระส่ำระสาย อย่าให้เกิดการจราจลฆ่าฟันกันเองขึ้นได้ เราต้องยกย่องผู้เสียสละว่าเป็นวีรบุรุษของชาติ และทุก ๆ คนมีสิทธิเป็นวีรบุรุษ(หรือวีรสตรี)ได้เท่าเทียมกัน เนื่องเพราะเราอาจต้องพลีชีพเพื่อรักษาความดีพลีชีพเพื่อรักษาศีล ๕ เอาไว้ให้ได้ ภายใน ๗ ปีข้างหน้า เมื่อไทยฟื้นขึ้นมา โลกซีกอื่น ๆ ทั่วไปก็กลับเสื่อมสลายลงบ้าง ในประมาณปี พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๕๐ ไทยน่าจะเงยขึ้นและเดินอย่างมั่นใจไปสู่ความรุ่งเรืองสุดขีดและเป็นผู้นำ ในขณะที่โลกพากันประสบชะตากรรมไปตาม ๆ กัน และพวกเขาจะมองหาเราว่าเป็นกัลยาณมิตร
เมืองไทยในวันนี้ จึงเท่ากับกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบ มีความรุ่งเรืองรออยู่ในวันข้างหน้า อยู่ระหว่างการชำระปรับปรุงตัวเอง อะไรที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย ไม่ทันเกมส์ ก็จะได้โอกาสปรับปรุงเสียวันนี้ หรือมีการชำระไปเองโดยธรรมชาติ จึงนับว่า แท้ที่จริง ไทยกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการปรับตัวอันยิ่งใหญ่โดยธรรมชาติ นับว่าเป็นโชคดีจริง ๆ ดีแท้ ๆเสียอีก ที่เราจะได้เตรียมตัวเผชิญโลกวิกฤติในอนาคตได้อย่างสง่าผ่าเผยกว่าประเทศใดใด ในวันนั้น เพียงแต่วันนี้ ต้องถอยกลับมา สู่ความสันโดษและวัฒนธรรม และบำเพ็ญตนดุจนักบวชให้ได้ นี่เป็นการมองของเรา
และเราจะพยายามติดตามเสนอการมองสถานการณ์โดยกว้างขวางไปเช่นนี้ เริ่มแต่หนังสือพิมพ์ดี ออกมา โปรดคอยชม อนึ่งมีท่านผู้อ่านบางท่านที่ไม่ได้รับหนังสือโดยตรงจากเรา อ่านจากคนอื่น และประสงค์จะให้เราส่งไปให้หรืออยากเป็นสมาชิก ท่านที่บอกชื่อและที่อยู่มาให้แล้วก็ไม่มีปัญหา เราก็จะส่งไปให้ ส่วนท่านใดที่ประสงค์เป็นสมาชิกก็ขอให้ติดต่อพร้อมแจ้งที่อยู่ให้ครบพร้อมรหัสไปรษณีย์ด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คณะผู้จัดทำจะรู้สึกไม่สบายใจหากไม่บอกกล่าวไว้เสียในฉบับนี้ ก่อนที่จะได้ชื่อใหม่ นั่นก็คือท่านผู้อุปการะโดยเป็นเจ้าภาพประจำเดือนโดยตลอดมาทุกเดือนนั้น นับว่าเป็นลมแห่งชีวิตที่ให้งานนี้เดินไปได้ ท่านผู้อุปการะเหล่านี้เราได้พิมพ์ชื่อไว้ท้ายเล่มทุกเล่มแล้วนั้น ท่านได้ให้การบริจาคเป็นเงินจำนวนระหว่าง ๒,๕๐๐-๖,๐๐๐ บาทต่อเดือนต่อเล่ม เราขออนุโมทนา ด้วยเหตุว่าท่านเหล่านี้มีคติต้องตรงกันคือ คติว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง เพราะธรรมทานนั้นคือมรรคผล คือขุมทรัพย์อันวิเศษสุดทางจิตวิญญาณมนุษย์ เรายังคงมองหาผู้อุปการคุณที่มีมุมมองอันบริสุทธิ์ยุติธรรมเช่นนี้และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อ ความเจริญพัฒนาการไปในทิศทางอันจริงแท้แห่งศาสนธรรมอยู่ตลอดมา
ในเรื่องรัฐธรรมนูญ เรามีความเห็นว่า ในประเด็นศาสนาประจำชาตินั้น ได้บ่งบอกสิ่งที่ค่อนข้างสับสนไม่ลงรอยกันในระดับความลึกของสถานการณ์ด้านศาสนา ระดับหนึ่ง เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาอย่างนี้แล้ว เราก็คิดว่า มีเหตุผล พอยอมรับได้ ในประเด็นอื่น โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่เป็นเหตุให้หนังสือวิเคราะห์ข่าวมีกำเนิดมา เราคิดว่า เราน่าขอบใจ สสร. ที่ได้เปิดช่องทางให้ การต่อสู้เพื่อปฏิรูปการศาสนาเดินต่อไป ซึ่งจักได้นำประเด็นมาวิเคราะห์ต่อไปในหนังสือพิมพ์ดีโปรดคอยพบกับแนวการปรับปรุงหลายอย่างในฉบับเดือนธันวาคม คอยติดตามทัศนะที่เปิดกว้างไปสู่โลก และศาสนาสากล ภายใต้ชื่อว่า หนังสือพิมพ์ดี ครับ ฯ
บรรณาธิการ
ก.ย.-ต.ค.-พ.ย. ๔๐
บันทึกสถานการณ์
๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๐: สมเด็จพระพุฒาจารย์วัดสระเกศประทานพัดเปรียญ ๓ ประโยคของคณะสงฆ์ภาค ๑๐-๑๑ ณ วัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ ทรงมอบทุนการศึกษาของมูลนิธิพระเทพวรมุนี(เสน ปญฺญาวชิโร) แด่พระเปรียญธรรม ๕ ประโยค ๓ รูป
๑. พระมหาทองสุข อคฺคธมโม วัดศิริวราวาส อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
๒. พระมหาทองสืบ เขมปญฺโญ วัดอัมพวนาราม อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
๓. พระมหาชัยวัฒน์ ญาณธโร วัดสว่าง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๐ : เจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ
เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ อดีตชายาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฏราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ วัย ๓๖ ชันษา ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ สิ้นพระชนม์ ในอุโมงค์ปองต์ เดอ ลาอัลมา ลอดแม่น้ำเซ็นต์ กลางกรุงปารีส ฝรั่งเศส รถยนต์ประทับ วิ่งอย่างเร็วเพื่อหนีกลุ่มช่างภาพอิสระ (ปาปาราซซี-PAPARAZZI) พุ่งชนเสาคอนกรีตค้ำอุโมงค์อย่างรุนแรง จนรถพังพินาศ นายโดดี อัล ฟายเอ็ด พระสหายรักชาวอียิปต์ ที่ร่วมโดยสารไปด้วยเสียชีวิต
แม้ว่าจะได้ถอดพระยศจาก เฮอร์ รอยัล ไฮเนส กลับสู่สามัญชน ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ ตั้งแต่ทรงหย่าขาดจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ปีที่แล้ว ราชวงศ์อังกฤษก็ได้อนุญาตให้ตั้งพระศพ ในวิหารหลวง พระราชวังเซนต์เจมส์ และพระราชวังเคนซิงตันอดีตที่ประทับของเจ้าหญิง อีก ๑ คืนสุดท้าย จึงเคลื่อนศพไปประกอบพิธี ณ วิหารเวสต์มินสเตอร์ เมื่อเวลา ๑๑๐๐ น.ที่อังกฤษ (ตรงกับไทยเวลา ๑๘๐๐ น. ๖ ก.ย.๒๕๔๐) แล้วพระญาติมีเอิรล สเปนเซอร์ ที่๙ อนุชาเจ้าหญิง ได้กล่าวไว้อาลัย ณ วิหารเวสต์มินสเตอร์ที่จับใจคนทั่วโลก ตอนหนึ่งว่า เธอ”เป็นผู้แบกรับภาระเพื่อสิทธิของผู้ต่ำต้อย เป็นหญิงชาวอังกฤษที่ก้าวข้ามขีดขั้นความเป็นอังกฤษออกไป เป็นคนซึ่งสูงส่งโดยธรรมชาติโดยปราศจากชนชั้น และเป็นผู้ซึ่งได้พิศูจน์ให้ประจักษ์กันมาในปีที่ผ่านมาว่าเธอไม่จำเป็นต้องอาศัยฐานันดรศักดิ์ เพื่อสร้างคุณลักษณะอันพิเศษมหัศจรรย์เฉพาะตัวออกมา….พี่… ผู้ซึ่งความงามทั้งภายนอกและภายในของเธอ จะจำหลักอยู่ในดวงใจของเรานิรันดร” หลังจากนั้นพระญาติมีท่านเอิร์ล สเปนเซอร์ที่ ๙และเลดี้ เจนส์ เฟลโลว์ นำพระศพไปสู่เกาะ สวนอัลธรอป สุสานของสกุลสเปนเซอร์ ที่ตำบลเกรตธิงตัน เมืองอัลธรอป แคว้นนอธแธมตัน ห่างจากกรุงลอนดอนไป ๑๒๓ กม. ประกอบพิธีฝังอย่างเงียบ ๆ เฉพาะในวงศ์ญาติ และห้ามนักข่าวเข้าไปทำข่าว ฝังไว้ที่นั่น
๑ กันยายน ๒๕๔๐ :รัฐมนตรีปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ประสบอุบัติเหตุ สาหัส
รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ส.ส.ศรีสะเกษ นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ที่จังหวัดสระบุรี อาการสาหัส ยังคงรับการรักษาอยู่ ร.พ.ตำรวจ
๕ กันยายน ๒๕๔๐ : แม่ชีเทเรซ่า แม่พระคนยาก ถึงอนิจกรรม
แม่ชีเทเรซ่า แม่ชีผู้บำเพ็ญตนตามหลักศาสนาคริสต์”ความรักอันเที่ยงแท้” คือรักคนผู้ยากไร้เสมือนรักพระเยซูคริสต์ และผู้ก่อตั้งองค์การมิชชันนารีเพื่อการกุศล(MISSIONARY OF CHARITY)แล้วดำเนินการช่วยเหลือผู้ยากไร้ในอินเดียมาตลอดระยะเวลา เกือบ๕๐ปี จนได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๒ ภายหลังได้เข้าไปก่อตั้งองค์การการกุศลนี้ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง ได้ถึงแก่อสัญกรรมโดยสงบ แล้วเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๐ ณ กัลกัตตา ประเทศอินเดีย
เมื่อข่าวแพร่ออกไปปรากฎว่าคลื่นมหาชนนับล้านในอินเดียและประเทศต่าง ๆ หลั่งไหลไปไว้อาลัยที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย มีทั้งผู้นำประเทศ เชื้อพระวงศ์ แม่ชี นักบวช ทุกเชื้อชาติศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ ฮินดู อิสลาม ฯ ไม่จำกัดชนชั้นโดยเฉพาะเด็กกำพร้า คนอนาถา ผู้ป่วยโรคเรื้อน และคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มคนในความอนุเคราะห์ของมิชชันนารี เพื่อการกุศลของแม่ชีเทเรซ่า หลั่งไหลไปแสดงความอาลัยและความสูญเสียที่ยากจะหาใดมาทดแทนได้ อันเป็นปรากฎกาดกรณ์ยิ่งใหญ่ของมหาชนในศตวรรษนี้
อันเนื่องมาจากการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยจิตวิญญาณของ”ความรักและการอุทิศ”โดยแท้จริง แม่ชีมีสูติกาลเมื่อ ๒๗ ส.ค. ๒๔๕๓ สิริอายุได้ ๘๗ ปี
ต่อมารัฐบาลอินเดียโดยการนำของนายอินเดอร์กุมาร กุจราล นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้จัดพิธีศพในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๐ เสมอเหมือนมหาตมคานธี รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย โป๊ป :สันตปาปาจอห์น ปอล ที่ ได้มีวรสารมาอ่านสดุดีในงานศพด้วย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ ได้มีโอกาศพบกับแม่ชีเทเรซ่า ทรงตรัสว่า แม่ชีเทเรซ่าเป็นเทพธิดาในดวงใจของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ และทรงจำเริญรอยตามในตอนปลายชีวิตโดยเอาใจใส่คนโรคเรื้อนและคนยากคนจน แม่ชีเนียร์มาลา อดีตแม่ชีฮินดู;yp ๖๓ ได้รับมอบภาระเป็นประธานมิชชั่นนารีเพื่อการกุศลต่อมา
๗ กันยายน ๒๕๔๐ : จันทรุปราคาเต็มดวงเห็นทั่วโลก
เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เห็นได้ทั่วโลก ไทยเริ่มจับตั้งแต่เวลา ๐๐.๐๗น. วันที่ ๑๗ ก.ย.๔๐(เที่ยงคืนวันที่ ๑๖ ก.ย.๔๐) นักดาราศาสตร์ว่าเป็นครั้งสุดท้ายของศตวรรษนี้ จะพบปรากฎการณ์นี้อีกครั้งในคริสต์ศตวรรษหน้า ในเดือน มกราคม ๒๕๔๔(ค.ศ.๒๐๐๑) ปรากฎว่ามลภาวะของโลกทำให้ราหูอมจันทร์คราวนี้ออกสีแดงอมเลือด ผิดแผกไปจากคราวก่อน ๆ
๑๙ กันยายน ๒๕๔๐ : ฮ.ตามเสด็จฯตก ข้าราชบริพารชั้นสูงเสียชีวิต ๑๔ คน
อุบัติเหตุ ฮ.ตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ตก ณ เทือกเขาสันกาลาคีรี บริเวณบ้านไอบาเจาะ ห่างจากอ.สุคิริน จ.นราธิวาสประมาณ ๑๘ กิโลเมตร มีผู้โดยสาร ๒๑ คน เสียชีวิต ๑๔ คน ข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ ระดับท่านผู้หญิงมี ๔ คนคือ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ, ท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ, ท่านผู้หญิงทวี มณีนุตร พระพี่เลี้ยงประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ และท่านผู้หญิง ม.ล.ทัดสมัย เศวตเศรณี
เหตุเกิดภายหลังบินขึ้นจากศูนย์ศิลปาชีพบ้านโต๊ะโมะ หมู่ ๓ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เมื่อเวลาประมาณ ๑๙.๔๕ น. เพื่อเดินทางกลับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ โดยตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ เป็นลำที่ ๓ ลำสุดท้ายในขบวนเสด็จ
๒๐ กันยายน ๒๕๔๐ : สมเด็จพระสังฆราชนำสงฆ์ไทยเจริญพุทธมนต์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงนำคณะสงฆ์และประชาชนไทยทั่วประเทศ ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นศิริมงคลของชาติและประชาชนไทย ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระแก้วมรกต โดยในเวลา ๑๗๐๐ น.เริ่มพิธี และสงฆ์ในสังฆารามทั่วประเทศร่วมเจริญพระพุทธมนต์พร้อมกันด้วย สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจถ่ายทอดพิธีครั้งนี้แต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้น
พิธีกรรม ในการนี้ ฯพณฯสุขวิช รังสิตพล รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลในฐานะมรรคทายกร่วมพิธีเจริญพุทธมนต์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วย
๒๔ กันยายน ๒๕๔๐ : จับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คดีสะเทือนขวัญ
ตำรวจดำเนินการออกหมายจับที่ ๒๑๖/๒๕๔๐ลงนามอนุมัติโดยนายอมร อนันตชัย ผวจ.จันทบุรี ขอจับนายสิทธิพร ขำอาจ ส.ส.กทม.เขต พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับผู้ต้องหาอีก ๓ คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผุ้อื่นโดยไตร่ตรอง โดยมีเนื้อหาว่าร่วมกันก่อคดีสะเทือนขวัญวางระเบิดใต้ท้องรถยนต์ฆ่านางปัทมา เฟื่องประยูร แม่ของ ส.ส.คมคาย พลบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จันทบุรี เมื่อวันที่ ๖ ก.ย. ๒๕๔๐ เวลา ๑๐.๔๐ น.เกิดระเบิดขึ้น นางปัทมา ถึงแก่ความตาย
ไฟป่าในอินโดนีเซียยังคงไหม้
ไฟป่าครั้งใหญ่กินเวลานานกว่า๑๐ วันในรัฐกาลิมันตันและสุมาตรา อินโดนีเซีย หมอกควันได้ปกคลุมไปในประเทศอินโดนีเซียทั้งประเทศ แผ่ไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และเมื่อ ๒๔ ก.ย. ๒๕๔๐ หมอกควันได้แผ่มาถึงภาคใต้ของประเทศไทย บางจังหวัด ก่อความเสียหายแก่เนื้อที่ป่าในอินโดนีเซียกว่า๕ล้านไร่ เศรษฐกิจยังประมาณค่าไม่ได้
๒๗ กันยายน ๒๕๔๐ : ลงมติไว้วางใจรนรม.และรับรัฐธรรมนูญใหม่
สภาผู้แทนราษฎร ลงมติไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี พล.เอกชวลิต ยงใจยุทธ ด้วยคะแนนเสียง ๒๑๒:๑๗๐
รัฐสภา ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ด้วยคะแนนเสียง ๕๗๘:๑๖
๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ ตรงนี้มีความหมาย พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐
มาตรา ๑๗๐ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดหมวด ๓ และหมวด ๕ แห่งรัฐธรรมนูญนี้
คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอมาด้วย
หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อรวมทั้งการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
{คอลัมน์ระดมความคิด}
จดหมายถึงบรรณาธิการ
บุคคลผู้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลดูจากตรงไหน?รู้ได้อย่างไร?
ถาม:~
เราจะทราบได้อย่างไรว่าพระองค์ไหน หรือบุคคลไหนมีภูมิธรรมสูงส่งถึงขั้นได้สำเร็จธรรมะเป็นพระอริยบุคคล เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราได้พบว่า มีพระเถรานุเถระมากมายหลายรูป ที่ทรงยศ ทรงสมณศักดิ์ชั้นสูง ที่ท่านก็มีจิตใจฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนามาแต่เด็ก ๆ และได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์มาแต่เด็ก ๆ คือบวชเป็นสามเณรแล้วไม่เคยลาสิกขาเลย ตราบได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดเจ้าคณะภาคหรือเจ้าคณะใหญ่ ฯลฯ ท่านเหล่านี้มีบ้างไหมที่ได้สำเร็จธรรมะเป็นพระอริยบุคคล จะมีข้อสังเกตอย่างไร อนึ่ง การที่ทรงยศทรงสมณศักดิ์ทรงตำแหน่งของพระสงฆ์นั้น จะเห็นว่ากว่าจะได้สมณศักดิ์ก็ใช่ว่าจะได้ง่าย ๆ ต้องได้อายุพรรษา อย่างน้อยก็ ๑๐ พรรษาขึ้นไป และปรากฎว่าเมื่อได้ยศศักดิ์ได้ตำแหน่งแล้ว ท่านก็เจริญมั่นคงในบวรพุทธศาสนาไปเป็นส่วนมาก น้อยนักน้อยหนาที่จะมีพระสมณศักดิ์สิกขาลาเพศไป นี่ก็น่าจะเป็นผลดีต่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาอย่างดีอยู่แล้ว การคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดใดจึงควรที่จะคำนึงตรงประโยชน์นี้ให้รอบคอบ มิฉะนั้นจะเกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงขึ้นได้
ตอบ:~
ประเด็นที่ ๑ เราจะทราบได้อย่างไรว่าพระองค์ไหนหรือบุคคลไหนมีภูมิธรรมสูงส่งถึงขั้นได้สำเร็จธรรมะเป็นพระอริยบุคคล
ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับพระอริยบุคคล ไม่ว่าประเด็นไหน ก็ยากที่จะตอบให้ ท่านผู้สนใจหรือท่านผู้สงสัยได้เข้าใจหรือพอใจได้เลย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องชั้นสูงเกินปัญญาใครจะตอบได้ หากจะพยายามตอบก็พอได้อยู่แต่เป็นเพียงคาดคะเนเอาตาม แนวแห่งวิชาการทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น
ถามว่าทราบได้อย่างไร ขอตอบว่าทราบได้จากสติปัญญาของท่าน ทราบ ได้จากกรรมฐานของท่าน ทราบได้จากศีล-วัตรของท่าน
ระดับพระโสดาบัน-สกิทาคามี จะเห็นท่านเคร่งครัดในศีล ในวัตร
ระดับพระอนาคามี ท่านจะเคร่งกรรมฐาน และงานทางสมาธิอย่างเอาเป็นเอาตาย
ระดับพระอรหันต์ จะแสดงออกทางปัญญาบริสุทธิ์
ถ้าเราเป็นพระอรหันต์ เราก็จะทราบได้โดยอัตโนมัติว่าพระหรือบุคคลใดบ้างเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอนาคามี เป็นพระสกิทาคามี และเป็นพระโสดาบัน พระอรหันต์องค์ที่มีภูมิปัญญาแตกฉานจริง ๆ ท่านเพียงแต่มองดู หรือเพียงฟังเสียงพูด ท่านก็รู้แล้วว่าเป็นบุคคลมีมรรคผลหรือไม่ อยู่ระดับใด
ถ้าเราเป็นพระอนาคามี เราจะไม่สามารถทราบโดยแน่ชัดว่าบุคคลใดเป็นพระอรหันต์ แต่อาจคาดคะเนได้ถูก มากบ้าง น้อยบ้าง หรือผิดไป ๑๐๐%เลยก็มี เพราะพระอรหันต์นั้นมีอิสรภาพสูงสุด แม้ความตายก็ไม่อาจผูกมัดได้ รูปแบบย่อมอาจผันแปรไปได้ตามสิ่งที่แวดล้อม จึงมักไร้รูปแบบร่องรอย เว้นเสียแต่ได้รับมอบหมายภาระ ก็ดูจากวิธีที่ท่านปฏิบัติภาระนั้น ๆ คือจะมีความรับผิดชอบอย่างไม่จำกัดจนกว่าภาระที่มอบหมายจะเสร็จสิ้นหรือตราบตัวเองหมดอายุขัยลง ท่านจะไม่มีความถดท้อไม่วางภาระหน้าที่ (ภาระนี้หมายถึงภาระแห่งมรรคผล)
แต่พระอนาคามีอาจรู้จักพระอนาคามีด้วยกันได้ถูกต้อง แต่อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่สามารถรู้ได้ว่าบุคคลใดเป็นพระสกิทาคามีและพระโสดาบัน
ท่านรู้ได้เพราะท่านเคยผ่านมาก่อน หรือแม้ไม่เคยผ่าน(ข้ามขั้นไป)ก็สามารถรู้ด้วยปัญญาอันมีระดับสูงกว่า
ถ้าเราเป็นพระสกิทาคามี เราจะไม่รู้จักว่าใครเป็นพระอนาคามีบ้าง พระอรหันต์บ้าง แต่แน่ละ เราอาจคาดคะเนเอาได้ ถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่เราจะ รู้จักแต่บุคคลเสมอ ๆ หรือต่ำกว่าตน เช่นพระโสดาบัน ค่อนข้างชัดเจน
ถ้า เราเป็นพระโสดาบัน เราอาจจะไม่รู้จักพระอรหันต์เลย ซ้ำพระอรหันต์บางลักษณะที่เราเห็น เราอาจจะนึกว่าท่านเป็นบุคคลที่ใช้ไม่ได้เอาเลยทีเดียวก็ได้ ทั้งนี้เพราะปัญญาของ เสขบุคคล กับ อเสขบุคคลนั้นห่างไกลกันอย่างกับอยู่คนละฟ้า(เสขบุคคล:ผู้ยังศึกษาอยู่-ยังรู้ไม่หมด หมายถึงพระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอนาคามี อเสขบุคคล:ผู้สำเร็จจบสิ้นการศึกษาแล้ว-รู้หมดแล้ว หมายถึงพระอรหันต์ประเภทเดียว)
ถ้าเราเป็นคนธรรมดา ถ้ารู้คัมภีร์ รู้หลักศาสนาเราก็อาจสามารถเดาเอาได้ โดยถือแนวพระคัมภีร์เป็นหลัก อยากให้ถือหลักข้างต้น ที่ว่า พระอริยบุคคลพัฒนาไปตามหลักไตรสิกขานั่นเอง ระดับล่างสุดก็เป็นระดับที่ทำศีลให้เต็ม ระดับกลาง ๆ นับแต่สกิทาคามิผลไปถึงอนาคามิมรรค ก็ทำสมาธิให้เต็ม ระดับอนาคามิผลถึงอรหัตมรรค เจริญวิปัสนาล้วน ๆทำปัญญาให้เต็มแล้วก็บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ อันเป็นชั้นสูงสุด เป็นมนุษย์ผู้รู้แจ้งโลก
จะลองเสนอแนะวิธีดูที่ง่าย ๆ แบบสูตรสำเร็จดังนี้
พระโสดาบันจะมีปกติรำลึกบุญ จะชักชวนพาหมู่บำเพ็ญศีลและทานมาก ๆ นิยมการก่อสร้าง จะสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาให้ใหญ่โตมโหฬาร บางองค์สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และช่วยเหลือคนยากคนจนตลอดชีวิต อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย และไม่รู้หยุดพักผ่อนหายใจ โดยไม่คิดเห็นประโยชน์ส่วนตนเลย เห็นคนยากคนจนเป็นสิ่งสมสร้างบารมี ปรีดาเมื่อพบคนยากคนจน มีความกลัวว่าคนจนจะหมดโลก แล้วจะไม่มีโอกาสสร้างสมบารมี พยายามจะตามรอยพระเวสสันดรให้ได้ บางองค์ไร้ทรัพย์ไร้ปัญญาก็อาจจะสร้างโบสถ์วิหารเอง เอาตัวเองเป็นแรงงานใครไปเป็นลูกน้องท่านก็อย่าหวังเลยว่าจะทำอะไรไปแล้วมีค่าตอบแทน หรือได้รางวัลเป็นเงินเป็นทอง ล้วนเป็นเรื่องการเสียสละ สละออกไปทั้งสิ้น พระโสดาบันนักสร้าง มักนึกสร้างอะไรให้ใหญ่โตมโหฬารเข้าไว้ ความคิดใหญ่เกินตัว บางองค์ไม่มีอะไรกับเขาเลยแม้กำลังกาย (เช่นสำเร็จเอาตอนแก่เฒ่า)ก็บำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ทางอื่น เช่นวาจาคำพูดไพเราะ เต็ม
ไปด้วยความปรารถนาดี เต็มไปด้วยการอภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองใครทั้งนั้น มี
ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างแท้จริง คนเข้าใกล้แล้วรู้สึกในมหาเสน่ห์ของท่าน รู้สึกในความเป็นกัลยาณมิตรของท่าน เข้าใกล้ท่านแล้วได้กำลังใจมามหาศาล(พระอริยบุคคลแต่ละระดับมีหลายประเภทตามพื้นฐานเดิมที่พัฒนามา) ถ้าฆราวาสเป็นพระโสดาบัน ก็ทำทานมาก บริจาคที่ดินสร้างวัด สร้างโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ สร้างสถานศึกษา โรงพยาบาล หรือบริจาคช่วยคนยากคนจน ชอบชวนคนไปทำบุญ สร้างสาธารณประโยชน์ ช่วยบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ทำสิ่งที่เป็นงานส่วนรวม งานสาธารณะอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จะโกรธเกลียดคนบาป แม้ลูกเต้าตัวเอง เป็นบุคคลหลักทางบริษัทสี่ฝ่ายอุบาสกอุบาสิกา (ลักษณะการบำเพ็ญบุญ ความเป็นนักบุญอย่างแม่ชีเทเรซ่า ของคริสต์ศาสนา ก็เข้าข่ายเข้าแนวทางโสดาบันในพระพุทธศาสนา หากแต่จะยากในการก้าวสู่ระดับสกิทาคามี อนาคามีหรืออรหันต์ เพราะความเชื่อพื้นฐานยังไม่สู่สัมมาทิฏฐิ คือความจริงเกี่ยวแก่มนุษย์ ซึ่งยืนอยู่บนทิฏฐิที่ว่า มนุษย์สามารถทำได้ ต้องด้วยอุ้งมือมนุษย์ ไม่ใช่ด้วยการบันดาล ไม่ใช่ทำได้เพื่อถวายพระเจ้า แต่ทำได้แล้วผลที่ทำเป็นประโยชน์แก่ตัวเองเป็นเบื้องต้น ต่อผู้อื่นเป็นการพลอย และประโยชน์นั้นก็คือเพื่อตัวองบริสุทธิ์ ต้องรู้จักตัวเอง มองตัวเอง มองตนให้เห็นตนเองชัดเจนให้ได้ ในวันหนึ่งก็จะรู้ความจริง ว่าพระเจ้าแท้ที่จริงก็คือตัวเราในฐานะ มนุษย์ นี่เอง)
พระสกิทาคามี จะชอบการบูชา จะท่องเที่ยวไปสักการะปูชนียวัตถุทางพระพุทธศาสนา หากมีทรัพย์มากก็จะท่องเที่ยวไปในแผ่นดินต่าง ๆ ทั่วโลก ไปที่ไหน ๆ ก็ร้องไห้ในใจคิดถึงบุญคุณของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์แต่อดีต ที่ได้ทรงสร้างพระพุทธศาสนาไว้ในโลก เป็นเหตุให้ตนได้พบพระพุทธศาสนา จะเดินทางไปเคารพสักการะปูชนียสถานในอินเดีย ไปธิเบต ไปที่ใดใดที่มีสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ไปเยี่ยม อนุเคราะห์คนยากคนจน เห็นความยากความจนเป็นสิ่งสมสร้างบารมี ยังคงสร้างวัตถุอยู่แต่เพลาลง น้อยลงกว่าพระโสดาบัน หันมาทางปฏิบัติบูชามากขึ้น ในระยะสกิทาคามิผลจะค่อยหยุดการท่องเที่ยวไปในแดนโลก เริ่มหยุด เพราะจินตนาการภายในเริ่มเปล่งปลั่งเข้ามาแทน เริ่มจับจิตตัวเองได้ และจะตามจิตไป ๆ ดูอาการทางจิตของตัวเอง เป็นเหตุให้เริ่มสนใจทางสมาธิอย่างเอาจริงเอาจัง ถ้าเป็นผู้รู้อักษรศาสตร์มักชอบบันทึกประจำวัน จะบันทึกความดี ความชั่ว ความชอบ ความชัง ของตนเอง ของคนอื่นและเหตุการณ์ในสังคมเกี่ยวกับคุณธรรมเหล่านี้อย่างละเอียด การท่องเที่ยวของพระสกิทาคามีจะแตกต่างจากการท่องเที่ยวของพระอนาคามี พระสกิทาคามีท่องเที่ยวไปเพื่อดู เพื่อรำลึกความดีความงามของบุพการีชน เพื่อจำเริญจิตอธิษฐาน เพื่อการเจริญรอยตาม แต่พระอนาคามีท่องเที่ยวไปเพื่อหาที่อยู่อันเหมาะแก่การเจริญวิปัสนาญาณ และเพื่อการธุดงค์และกรรมฐาน
พระอนาคามี จะรู้จักกรรมฐาน ศึกษากรรมฐานชนิดต่าง ๆ อย่างละเอียดเอาใจใส่ และติดตามอารมณ์กรรมฐานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย แม้ไม่รู้จากตำราก็รู้โดยธรรมชาติของการพัฒนาไปของฝ่ายจิต ที่ได้เข้าสู้เส้นทางที่ถูกต้องแล้ว สมาธิจะตั้งมั่น และระดับนี้ มักจะดุดัน กริยาท่าทางตรง ผาดโผนพูดจาตรงไปตรงมา ไม่คำนึงว่าสุภาพถูกหูคนหรือไม่ โยมสตรีอาจถูกด่าโดยไม่ไว้หน้า และโดยที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ (จนอาจจะนึกว่าพระบ้า) มีอำนาจดุจนักการทหารระดับนายพล ท่านจะชอบปลีกตัวจากสังคม เข้าป่าช้าบ้าง เข้าอยู่ห้องดับจิตบ้าง อดอาหาร หรือบำเพ็ญตะปะ มักละวางการสร้างวัตถุขนาดใหญ่โตลง หรือบางกรณีก็กลับตรงกันข้าม เป็นระยะที่เริ่มเข้าสู่โลกในมิติอื่น ๆ ที่เรียกกันว่าสวรรค์บ้าง นรกบ้าง ท่านจะพยายามวิเคราะห์ในปัญหาอันประหลาดลึกลับเช่นนี้ เพราะวิถีทางแห่งการบำเพ็ญสมาธิ จะไปเกี่ยวข้องกับนิมิตต่าง ๆมากมายหลายรูปแบบ ท่านจะต่อสู้กับสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ที่พระสกิทาคามีหรือพระโสดาบันยังไม่สามารถพานพบได้ จะพูดน้อย หรือไม่พูดเลย นั่งมาก เดินจงกรมก็มาก มีความสุขอยู่กับสมาธิ และการท่องเที่ยวทางสมาธิจิต
พระอรหันต์ รู้จักท่านทางปัญญาล้วน ๆ พระอรหันต์มีหลายประเภท ท่านที่บริสุทธิ์จริง ๆ ทางปัญญา ท่านก็จะพูดเรื่องปัญญาล้วน ๆ ในขณะที่อีกหลาย ๆ ท่านอาจพูดหลายเรื่องแกมกันไป เช่นพูดเรื่องศีลบ้าง สมาธิบ้าง พูดเรื่องฝ่ายโลกบ้าง ฝ่ายธรรมบ้าง เพราะการพัฒนามาแตกต่างกันนั่นเอง องค์ที่พัฒนามาตามขั้นตอนจะสามารถอธิบายธรรมภาคปฏิบัติได้ละเอียดกว่าองค์ที่ข้ามขั้นไป หากแต่ทางสติปัญญาอาจสู้องค์ที่ข้ามขั้นตอนไปไม่ได้ บางองค์ที่ท่านมีพื้นฐานการศึกษาน้อย รู้แล้วมักพูดมักสอนไม่ได้ เป็นต้นเหตุที่มาของคำว่า “ผู้รู้ไม่พูด ผู้พูดไม่รู้” (เพราะอรหัตผลเป็นวิทยาศาสตร์ ท่านที่เรียนมาทางไสยศาสตร์ไม่เคยรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มาก่อนเลยเมื่อสำเร็จธรรม ผลที่ได้พบก็กลับกันไปจากเดิม ที่เคยเรียนมาอย่างไสยศาสตร์ จึงพูดไม่ได้ อธิบายไม่ได้เพราะไม่รู้เหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์ ก็สรุปเอาเองว่า ผู้รู้ไม่พูด ผู้พูดไม่รู้) พระอรหันต์ทั้งหลายมีสิ่งที่เหมือนกันคือ สิ้นกิเลส ข้าศึกไม่มีอีกแล้ว มีความสุขจริง โดยไม่อิงอาศัยโลกเลย ไม่มีความอิจฉาริษยาหลงเหลืออยู่ (ระดับอนาคามียังมีความอิจฉาริษยาอยู่) เป็นผู้ที่ตายไปก่อนตายจริง ๆ แล้ว พระอรหันต์ท่านมักจะมีความรู้ลับ ๆ ที่ท่านอาจจะไม่เปิดเผยให้ใครรู้เลย ตราบตายไปกับท่านก็มี แต่หมู่พระอรหันต์ท่านรู้เหตุผลดีว่าทำไม และท่านจะใช้ตรงนี้เป็นการวัดว่าใครอยู่ภูมิพระอรหันต์หรือไม่
ข้อสังเกตสำคัญคิดว่าพระอรหันต์น่าจะยุติการสร้างสรรค์ทางวัตถุลง จะต่อต้านวัตถุนิยม กามนิยม และเกียรติ์นิยม มักไม่คบหากับบุคคลส่วนใหญ่ มักพอใจคบเฉพาะคนเป็นปราชญ์ โดยไม่จำกัดศาสนา การบังเกิดพระอริยบุคคลระดับต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาเท่ากับ เป็นการแบ่งปันหน้าที่กันโดยอัตโนมัติระหว่างหมู่พระอริยบุคคลเหล่านั้น สิ่งที่พระโสดาบันทำ พระสกิทาคามีจะไม่ทำ สิ่งที่พระสกิทาคามีทำ พระอนาคามีจะไม่ทำ และสิ่งที่พระอนาคามีหรือพระอริยบุคคลอื่น ๆ ทำพระอรหันต์จะไม่ทำ ท่านจะทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ของท่าน ด้วยเหตุนี้ พระอรหันต์จึงอาจจะมีชื่อเสียงในหมู่มนุษย์ชั้นต่ำสู้พระโสดาบัน หรือแม้คนธรรมดา ๆ คนหนึ่งไม่ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร (ในสังคมที่ไม่มีการจัดระเบียบทางธรรมะ)
นี่เป็นเพียงข้อสังเกตุโดยรวม โดยประมาณการณ์ ไม่อาจกำหนดว่าตายตัวได้ หากแต่คงมีข้อยกเว้นอยู่ตลอดไปทุกประเด็น แต่มีความจริงอีกประการหนึ่งก็คือ สำหรับพระที่ดูยากที่สุด ก็คือพระอรหันต์นั่นเอง พอจะพูดได้เลยว่า เราดูไม่รู้หรอกว่าใครเป็นพระอรหันต์ เพราะถึงเราปักใจลงไปแล้วว่าท่านเป็นจริง ๆ แต่เราก็อาจจะสะดุดเข้าวันหนึ่งและเริ่มสงสัยขึ้นมาอีกครั้ง เป็นธรรมดาเช่นนี้เอง สมัยก่อนมีพระพุทธเจ้าคอยชี้บอก ก็เชื่อพระพุทธเจ้า หาเชื่อด้วยตัวเองไม่ จนกว่าเราจะเริ่มเข้าสู่กระแสแห่งธรรมะชั้นสูง เราจึงจะพอดูอะไร ๆ ออกด้วยตนเอง และเชื่อ ด้วยตนเอง ด้วยความมั่นใจอย่างไม่คลอนแคลน นั่นแหละคือความศรัทธาที่แท้จริง ได้บังเกิดขึ้น และ ณ จุดนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดแห่งความมั่นคงของศาสนจักร
นอกจากนั้นยังมีความสลับซับซ้อนของพฤติกรรมพระอริยบุคคลที่จะยากในการดู ก็คือ เมื่อพระอริยบุคคลเป็นประเภทที่ “หมดบุญ” คือพระระดับอนาคามีลงไป ที่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ระดับสูงได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม ก็จะแปลกไปอีก จะดูยากขึ้นไปอีก และอาจจะไม่ตรงกับลักษณะที่แนะนำมาข้างต้นเลยก็ได้ พระประเภทหมดบุญมักจะเฉหรือเบี่ยงเบนออกไปนอกทางที่ถูกที่ควร รวมความถึงพระปุถุชนธรรมดาด้วย ซึ่งมีมากมายเหลือเกินจนสิ้นสภาพความเป็นพระไปแล้วก็มีมาก ซึ่งนี่แหละเป็นปัญหาใหญ่ของพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้
อย่างไรก็ตามแต่ เคยได้ยินท่านเล่าเรื่องประหลาดดังนี้คือ เมื่อพระอริยบุคคลท่านรู้จักกันแล้ว ท่านก็จะมีความเคารพกันขึ้นเองโดยอัตโนมัติ คำว่า “รู้แล้วจะหนาว” ก็มีใช้ในวงการอริยบุคคลด้วย คือเมื่อยังไม่รู้จักใครเป็นใครก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอรู้แล้วว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ก็หนาวขึ้นมาทันที เพราะอานุภาพพระอรหันต์พอจะทำให้คนอื่นรู้จักความต่ำต้อยของเขาได้ดีมาก ไม่ว่าในด้านใดใด (รู้จักคุณแล้วทำให้รู้จักความต่ำต้อยของผม)
การเปิดตำราดูพระอริยบุคคล อาจเอาหลักอื่น ๆ มาจับอีกก็ได้ เช่นเอาเรื่องสังโยชน์ ๑๐ มาจับก็ได้ แต่เราจะเข้าใจยาก เมื่อท่านพูดถึงเรื่อง ฌาน เพราะคำ ๆ นี้ เป็นคำสากล แต่ในพุทธศาสนาพูดถึงเพียงส่วนนิดน้อยเท่านั้นเอง และไม่มีคำอธิบายไปมากพอ จนกระทั่งท่านที่เขียนตำหรับตำราอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังดูคลุมเครืออยู่ คำ ๆ นี้มีธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เรารู้ ๆ กันในตำรา จึงน่าจะเป็นคำ สากล ที่จะต้องอธิบายในแนวศาสนาสากลหรือแนวปรากการณ์แห่งธรรมชาติ
แต่สิ่งที่ไม่ควรเอามาจับวัดมาตรฐานแห่งพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ก็คือเรื่องอภินิหารต่าง ๆ แนวคิดที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงก็คือแนวคิดที่ว่า พระอรหันต์ต้องเหาะเหินเดินอากาศได้(ดังเช่นคำท้าทายว่า "ให้เหาะมาให้เห็นจึงจะเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์") พึงเข้าใจว่า นั่นผิด เดิมเราไม่เข้าใจว่า เรื่องการเหาะเหินเดินอากาศเป็นเรื่องของจินตนาการ เช่นหนุมาน ในรามเกียรติ์ หรือ ซึงหงอคง ในไซอิ๋ว เป็นต้น ซึ่งเราพิศูจน์ได้ชัดเจนแล้วในประเด็นที่ว่า ลิงมีฤทธิ์ทั้งสองนี้ที่สามารถ เหาะไปได้ทั่วทั้งโลกสวรรค์ มนุษย์ และบาดาล แต่ลิงทั้งสองก็ไม่เคยรู้เลยว่าโลกเรานี้มีสัณฐานกลม เช่นซึงหงอคงเหาะตีลังกาไปจนถึงที่สุดขอบโลก เห็นเสาจันทน์แดงอยู่ห้าต้นปักเป็นเครื่องหมายอยู่ (ตอนแสดงฤทธิ์อวดพระยูไลพุทธเจ้า ซึ่งแม้กระนั้นซึงหงอคงก็ยังคงเห็นโลกมีสัณฐานแบนราบอยู่) หรือหนุมานเหาะขึ้นไปหยุดรถพระอาทิตย์บนชั้นฟ้า ก็ยังไม่รู้ ไม่เห็นเลยว่าโลกและ ดวงดาวทั้งหลายมีสัณฐานกลม อย่างที่พวกเรามนุษย์ธรรมดารู้กันอยู่ทุกวันนี้ นี่คือข้อพิศูจน์ที่ควรหยุดความเชื่อในอภินิหารว่าเหาะได้ จึงไม่ควรนำมาอ้างเป็นมาตรฐานการวัดพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา แต่เรื่องอภินิหารนั้นมีความลับอยู่ลึกซึ้ง และค่อนข้างละเอียดอ่อน ยากจะมีผู้อธิบายได้ โดยง่าย เพราะแท้ จริงอภินิหารในบางอย่างก็มีจริงอยู่ แต่เราต้องศึกษาอย่างรู้ที่มาที่ไปแห่งอภินิหารนั้น ๆ อย่างวิทยาศาสตร์ทางจิตวิญญาณ
อนึ่ง การมองที่ผิวพรรณ หรือรูปธรรมอย่างอื่นของคน เห็นรูปพรรณดี มีสง่า ราศีผุดผ่องลำยองใย อะไรเหล่านี้ ก็นึกว่าคงเป็นพระอริยบุคคลเสียแล้วนั้น ยังไม่รอบคอบพอ และไม่ใช่เหตุผลหลัก เพราะพระอริยบุคคลจริง ๆ นั้นท่านจะมีอุปมาดั่ง ทหารที่กรำศึก รูปธรรมที่เห็นที่ถูกต้องจึงจะออกมาในบุคคลิกภาพของนักสู้ ผู้ทรหดอดทน มีแววตาองอาจสามารถ ไม่ระย่อ จะมีความขึงขังมากกว่าความละมุนละไม มีความระแวงระวังภัยอย่างสูง ดูพระธุดงค์หรือพระป่าที่ท่านกรำแดดกรำฝน ทนอดทนอยากไม่เคยสบายเหมือนพระในเมืองใหญ่ หรือมีภาระการงานมากอดหลับอดนอน นอนไม่พอ ผิวพรรณท่านจะขาวผ่องลำยองใยหรือ อาหารก็ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนพระในเมืองใหญ่ ๆ แล้วจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ผุดผ่องได้หรือ ส่วนความเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ก็ลองสังเกตุดูท่านที่มีทรัพย์อยู่ดีกินดี นอนหลับสนิท เช่นนายห้าง นั่งรถเก๋งคันใหญ่ หรือเจ้านาย ข้าราชการชั้นสูงทั้งหลาย ที่ท่านรู้สึกตัวว่าอุดมสมบุรณ์แล้ว พระก็เหมือนกัน เมื่อมียศ มีทรัพย์ ท่านก็ยิ้มหัวได้สบายใจ ผิวพรรณก็ผุดผ่อง แต่ถ้าทึกทักเอาที่ผิวพรรณว่าเป็นเครื่องหมายแห่งอริยบุคคล ก็จะยังไม่รอบคอบพอ ดังเหตุผลที่กล่าวมา พึงดูเหตุผลให้รอบด้าน รูปธรรม-นามธรรม
ประเด็นที่ ๒ ปัญหาพระเถรานุเถระที่บวชมาตลอดชีวิต ทรงยศถาบรรดาศักดิ์ มีตำแหน่ง มีบ้างไหมที่ได้สำเร็จธรรมะ ตอบยากมาก ใครจะอาจหยั่งรู้ไปได้ขนาดนั้นลองสังเกตจากคำพูดของท่าน หนังสือที่ท่านเขียน เอาหลักไตรสิกขาเข้าจับพร้อมกับสัญโยชน์ ๑๐ ก็คงจะเห็นได้ว่ามีอยู่ไม่น้อย แม้จวน ๆจะเข้าอรหัตมรรคก็มีอยู่ แต่ระดับอรหัตผลนั้นหายาก ท่านพุทธทาสภิกขุระบุว่ามีน้อยจนแทบหาทำยาหยอดตาไม่ได้ แต่กระนั้นก็ไม่สามารถจะนำหมู่ปฏิบัติเพื่อมรรคผลได้ แม้ว่าจะดำรงตำแหน่งสูงก็ตาม เพราะระบบสงฆ์ ที่มียศ มีฐานันดรกันไปทั้งสิ้นแล้วนั้นเป็นตัวปิดกั้นอย่างหนาทึบ เป็นตัวเฟืองแห่งจักรกลตัวใหญ่ที่พาตัวอื่นหมุนไป ซึ่งบรรดาท่านที่สำเร็จธรรมชั้นสูงท่านก็รู้ดีอยู่เต็มอก หากไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ระบบยศพระนี้และระบบการอยู่ในตำแหน่งอย่างไม่จำกัดเวลาหรือตลอดชีพแล้ว การบรรลุธรรมในหมู่สงฆ์จะค่อยลดน้อยลงไปตามลำดับ ๆ จนหมดสิ้นไปในไม่ช้า ในทางตรงกันข้าม พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองมากในโลก หากเพียงแก้ไขปรับปรุงระบบสงฆ์เสียใหม่ โดยจะต้องไม่มีตำแหน่งตลอดชีพ และยศพระ แต่ต้องถือหลัก ความเสมอกันด้วยศีลอันเป็นเกณฑ์ ทางพระวินัย ที่กระตุ้นเตือนพระสงฆ์สาวกทุกรูปโดยเสมอหน้ากัน โดยไม่มีบรรดาศักดิ์หรือตำแหน่งมากีดกั้น ให้ฝักใฝ่ในมรรคผล อันเป็นหน้าที่โดยตรงของเหล่าพระสาวกได้เต็มที่ ทุกรูปโดยอิสระ(คือไม่ควรมีเจ้านายมาคอยกำกับอย่างโง่เขลาในเรื่องมรรคผล ตำแหน่งและยศเป็นเหตุให้เกิดอำนาจการสั่ง การบังคับ การระรานความเสมอกันด้วยศีล แต่ตำแหน่งและยศนั้นไม่อาจบรรดาลให้ใครสำเร็จมรรคผลได้ ศีลต่างหากที่เป็นปัจจัยหลักส่งสู่มรรคผลชั้นประตูธรรมได้) นั่นก็คือหน้าที่ที่จะต้องพยายามไปจนกว่าจะบรรลุมรรคผล เอามรรคผลเป็นหน้าที่ให้จงได้ ซึ่งจะต้องกลับใจเสียตั้งแต่บัดนี้ว่า มรรคผลไม่ใช่สิ่งสูงเกินวิสัยมนุษย์ เท่าที่ศีล ๕ ยังมีมนุษย์สามารถประพฤติตามได้อยู่ ฉะนั้นมรรคผลจึงเป็นเป้าหมายและเป็นหน้าที่แห่งชีวิตที่มนุษย์ทุกรูปนามพึงกระทำและอาจเอื้อมเอาให้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่เกินวิสัยมนุษย์ เพียงแต่ต้องมีความมานะพยายาม อย่าท้อถอยทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่นก็สามารถสำเร็จประโยชน์ได้ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ชาตินี้แหละ
ประเด็นที่ ๓ ระบบยศพระทำให้ศาสนจักรมั่นคง พระไม่ลาสิกขา ต้อง เข้าใจสัจธรรมเบื้องต้นเสียก่อนว่า นักบวชที่ปราศจากมรรคผลนั้น ไม่อาจจะต้านทานเพลิงกิเลสได้ เหตุผลในเรื่องนี้ เป็นเหตุผลที่คาบเกี่ยวไปถึงสัจธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจให้ได้เสียก่อนขอให้ย้อนไปอ่านบทวิเคราะห์ในเล่มเดือน กรกฎาคม ๒๕๔๐ อีกครั้ง ระบบยศพระปิดกั้นกระแสแห่งมรรคผลอย่างไร ได้วิเคราะห์ไว้แล้ว และเมื่อระบบยศพระไม่มีมรรคผล (เพราะความเป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการ หรือความเป็นเจ้าคุณผู้สูงศักดิ์ นั้นไม่ใช่ตัวเหตุที่จะพาไปสู่มรรคผล หากแต่เป็นภูเขาที่ปิดกั้นมรรคผลอย่างแน่นทึบยิ่ง ไม่งั้น เจ้าชายสิทธัตถะก็คงจะตรัสรู้อยู่ภายในพระราชวังสี่ฤดูพร้อม ๆ กับนางสนมนับร้อยแวดล้อมได้) ก็ต้านราคะ ต้านอำนาจโลภะไว้ไม่ได้ อะไรจะเกิ ดขึ้นเมื่อมีความกำหนัดจนล้น และเมื่อกระทำผิดไปแล้ว มีหรือที่จะยอมลาสิกขา นี่กล่าวมารชนิดเดียวคือราคะเท่านั้น ยังมีมารอีกหลายชนิดที่ต้องมีอาวุธประจำกายไปต่อสู้อีกหลายชนิดด้วยกันตามชนิดของมาร
ตามสภาพวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย การรับราชการถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของคนไทย เป้าหมายชีวิตคือ การเป็นเจ้าคนนายคน ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ปองประสงค์อันสูงสุดอยู่ พระก็เป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดา เมื่อได้ตำแหน่งได้ยศแล้ว ก็เท่ากับบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิตแล้ว สบายแล้วเพราะได้เป็นขุนนางพระแล้ว ก็ไม่ฝักใฝ่ในหน้าที่ ละเลยหน้าที่เสีย หรือแม้ขนาดที่ว่าไม่รู้จักหน้าที่ของตนเลยก็มีอยู่มากมาย
ลองถามดูว่าหน้าที่ของพระสงฆ์คืออะไร ?
ยังมีคำตอบที่ถูกต้องอยู่หรือไม่ที่ว่า หน้าที่ของพระก็คือต้องพากเพียรให้บรรลุมรรคผลนิพพานให้จงได้ ตราบใดที่ยังไม่บรรลุมรรคผล พระสาวก จักต้องพยายามต่อไป จนกว่าจะถึงฝั่ง นั่นแหละจึ่งจะเรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ของคนดี ตามบาลีว่า ํ นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา (เครื่องหมายของคนดีคือความกตัญญูกตเวทิตา) ซึ่งถ้าเราถามต่อไปว่า กตัญญูกตเวทิตา อย่างไร
มีบ้างไหมที่รำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และศาสนาของพระองค์ อย่างผู้มีความกตัญญูรู้คุณ
(แล้วเราก็จะเศร้าเสียใจ)
เพราะการที่พระสาวกบรรลุธรรมสูงสุดที่พระองค์สอนได้ นั่นแหละเรียกว่า คนที่มีความกตัญญูรู้คุณจริง คนที่รู้หน้าที่ของตนจริง
"โลกรอดได้เพราะกตัญญู" ท่านพุทธทาสภิกฺขุ พูดไว้
ประเด็นเกี่ยวกับพระอยู่มั่นคงในพระพุทธศาสนา ไม่ลาสิกขา เพราะได้สมณศักดิ์หรือตำแหน่งใดในระบบสงฆ์ปัจจุบันนี้ ไม่ควรเข้าใจผิดไปว่านั่นคือความหนักแน่นในพระธรรมเสมอไป แต่สาเหตุที่สำคัญนั้นกลับเป็นปัญหาเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพ สำหรับชีวิตพระนั้น ท่านไม่ได้ร่ำเรียนมาในทางที่จะประกอบอาชีพเหมือนชาวบ้านญาติโยม การลาสิกขาจึงเป็นสิ่งที่ท่านต้องคิดมากเสมอ หากไม่ร่ำรวยพอหรือมีวิชาความรู้พอจะออกไปประกอบอาชีพได้แล้ว ท่านก็มักจะต้องทนอยู่ในระบบสงฆ์ต่อไป แม้ไม่มีมรรคผลนิพพานแต่อยู่ในระบบสงฆ์ก็สามารถเอาตัวรอดได้ และที่สำคัญสามารถทำมาหาเลี้ยงตนไปได้เรื่อย ๆ ด้วยบารมีแห่งพระพุทธศาสนา ตราบแก่เฒ่าชราไปก็ไม่หมดไม่สิ้นไร้อาหารการกินอยู่ เพียงแต่ต้องทนอดทนกล้ำทนกลืนไปอย่างไม่รู้อนาคตเท่านั้น ยุคนี้จึงเป็นยุคแห่งความสับสนของนักบวช สับสนว่าจะเอาอะไรกับการบวช ถ้าบวชไปจนแก่เฒ่าแต่ไม่ได้หรือไม่รู้อะไรของมรรคผลนิพพานเลย ก็จะอยู่ไปอย่างทนระทมทุกข์ มีความกดดันต่าง ๆ มากมาย หาความสุขมิได้ และนำไปสู่ประตูแห่งความเสื่อมในที่สุด อันเนื่องมาจากกิเลสร้าย ๆ จูงใจให้จำต้องแสวงหาเงิน หรือจำต้องประพฤตตกต่ำ และเมื่อจำต้องนำระบบยศ-ตำแหน่งเข้ามา ปัญหาก็กลายรูปไปอย่างใหญ่หลวงในประการที่เพิ่มทวีความเสื่อมทรุดลงไปตามลำดับ ดังที่ วิเคราะห์ข่าวในวงการฯ ได้นำมาสู่ความเข้าใจเป็นลำดับมาแต่ต้นแล้ว
สิ่งที่ควรสังเกตเกี่ยวกับวิธีมองพระอริยบุคคลยังมีอีกมาก อย่างหนึ่งก็คือวิธีมองตัวเอง หากคิดว่าตัวเองสำเร็จธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อคนสำเร็จธรรม เป็นพระโสดาบันแล้วนั้น จะเท่ากับได้ชีวิตใหม่ ผู้สำเร็จจะมีความรู้สึกเหมือนเกิดใหม่ มีเลือดใหม่ มีลักษณะเหมือนเกิดในกองบุญอันบริสุทธิ์ ชีวิตอยู่ในความดีแต่ส่วนเดียว จะรักความดียิ่งชีวิต มีชีวิตแห่งความเสียสละ มีแต่จาคะคือการสละออกไปโดยตลอดอย่างไม่มีการหวังสิ่งตอบแทน ด้วยมุ่งหมายไปอย่างสุดฤทธิ์สู่มรรคผลสูงสุด คือความเป็นพระอรหันต์เป็นผู้ที่ได้กลิ่นแห่งพระนิพพานแล้ว นี่คือความมั่นคงอย่างยิ่ง ที่ไม่มีการลงทุนลงแรงเลย ประชาชนไม่จำต้องเสียภาษีเพื่อค่าความมั่นคงชนิดนี้ และบุคคลชนิดนี้แหละที่จะเป็นปราการหลัก ขุนพล และแม่ทัพพระพุทธศาสนาที่แท้จริงต่อไป อันเป็นหน้าที่ของท่าน ๆ โดยอัตโนมัติ แต่นี่เป็นความมั่นคงระดับประตูที่๑ คือโสดาบันเท่านั้นเอง ก็ทรงคุณประเสริฐมากแล้ว
ประเด็นที่ ๔ ประเด็นความรอบคอบ จะทำอะไรต้องรอบคอบ นั้น ความรอบคอบอยู่ที่ภูมิปัญญา คนลังเลสงสัยอยู่ก็เพราะความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องของมรรคผล จนกระทั่งเห็นไปอย่างป่าเถื่อนไปสุด ๆ ว่ามรรคผลไม่มีในโลก ซึ่งแท้จริงแล้วไม่น่าเป็นความคิดหรือคำพูดของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ควรเป็นศาสนาอื่นเขาพูดมากกว่า เมื่อไม่ยืนยันในเรื่องมรรคผลแล้วศาสนาของพระพุทธเจ้าก็ไม่มีขึ้นในโลกนี้ จะไม่มีศาสนาพุทธเกิดขึ้นมาในโลกนี้ หากไม่มีการตรัสรู้ว่าด้วยเรื่องมรรคผล และหากมรรคผลไม่อาจมีต่อไปอีกแล้วศาสนาพุทธก็จบลง เพราะสาระแห่งความดีความประเสริฐไม่มีอีกแล้วจะเผยแผ่พุทธศาสนาไปอย่างไร เพราะอะไรที่จะบ่งบอกคุณค่าของพระพุทธศาสนาไปอวดไปอ้างแด่ชาวโลกผู้เจริญ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว อะไรที่บอกคุณค่าของการบวชไม่มีอีกต่อไปแล้ว และหากสิ้นสัมมาทิฏฐิ คือความเชื่อว่ามรรคผลอาจเอื้อมเอาได้ด้วยความพยายาม ก็เป็นอันสิ้นศาสนา
แต่สิ่งที่สงฆ์ไทยอวดชาวโลกอยู่ปัจจุบันนี้ก็คือ ยศ-ตำแหน่ง อันเป็นของฝ่ายโลกเป็นโลกธรรม และซ้ำเป็นโลกยุคเก่า ในระบบเจ้าขุนมูลนายอัน เป็นระบบการปกครองที่ล้าหลัง ไม่ทันยุคทันสมัย ซ้ำพลอยฉุดสังคมยุคใหม่ ยุคประชาธิปไตยประชาชนให้ล้าหลังทางการเมืองการปกครองไปอีกด้วย หากเราไม่ตระเตรียมการปรับปรุง พาการคณะสงฆ์ไปสู่เป้าหมายแห่งมรรคผลนิพพาน แห่งเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ หรืออริยบุคคลแล้ว ต่อไปจะลำบากแก่หมู่สงฆ์เอง จะเป็นทางหายนะในระดับสากลโลก เพราะสถานการณ์การศาสนาโลกขณะนี้ได้หมุนไปอย่างเกรี้ยวกราด อาจทำลายสิ่งดีสิ่งงามสิ่งมีค่าของพระพุทธศาสนาได้โดยง่าย เพราะขณะนี้กลายเป็นระบบศาสนาที่ไม่มีพลังแห่งศาสนาที่แท้จริง มีแต่พลังเทียม ๆ ที่แอบอาศัยพลังอย่างอื่น-ระบบอื่นอยู่.
(คอลัมน์จดหมาย)
ถึง องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก(พ.ส.ล.)
สุสานสวามิภูติ (สันติพิมานนรเทพ) ศรีสะเกษ
๑๕ กันยายน ๒๕๔๐
เจริญพร ท่าน ดร.นันทสาร ทราบ
ได้รับข่าวการประชุมทางวิชาการของมูลนิธิส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ทางพระพุทธศาสนาเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ (สพก.) เรื่อง “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก” เดี๋ยวนี้เอง เห็นว่าจะประชุม ณ วันอาทิตย์วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๐ ณ อุทธยานเบญจสิริ จึงขอตอบมาทันที
ก่อนอื่นขออนุโมทนาที่ส่งข่าวสารไปถวาย และยินดีด้วยที่ได้รับเกียรติในการเข้าร่วมเป็นวิทยากรผู้บรรยายด้วยผู้หนึ่งในหลาย ๆ ท่าน ในท้ายข่าวมีเรื่องที่น่าสนใจก็คือคำบรรยายของวิทยากรจะพิมพ์แจกจ่ายทั้งในรูปเล่มและแจกเป็นชีตด้วย อาตมภาพว่าน่าสนใจมาก หากส่งไปถวายได้ก็จะดี เพื่อจะลงเป็นข่าวในวิเคราะห์ข่าวในวงการฯต่อไป สำหรับวันนี้อาตมภาพมีข้อสังเกตดังนี้
1. น่าจะมี การถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ไม่เฉพาะครั้งนี้ แต่ทุกครั้งที่มีการบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ทางพระพุทธศาสนาในวงกว้าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแนวคิดสากลเช่นการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก หรืออย่างน้อยก็น่าจะมีการประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ เช่นออกในจดหมายข่าวของช่อง ๓ ที่เขามีเป็นประจำวันที่บอกให้รู้ว่าใครจะทำอะไรที่ไหน หรือ มีอะไรเป็นอะไรที่ไหน เพื่อประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะในด้านการสร้างกระแสแห่งธรรมขึ้นในสังคมพระพุทธศาสนาในกาลสมัยที่ควร
2. คำว่า “วิชาการ” ในจุดมุ่งหมายที่ว่า “การประชุมทางวิชาการ(ทางพระพุทธศาสนา)” น่าจะต้องเกี่ยวข้องกับการศึกษาทางพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เราน่าจะวิเคราะห์ในประเด็นเป้าหมายของการศึกษาทางพระพุทธศาสนาไทยปัจจุบันว่า มีเป้าหมายทางการศึกษาที่ถูกต้องตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงอย่างไรหรือไม่ (อยากให้ดูพุทธทาสภิกขุ เห็นความบกพร่องทางการศึกษาอย่างมากมาย เช่น “ปริยัติธรรมทางเจือด้วยยศศักดิ์” นั่นก็คือการศึกษาที่ นอกจากไม่ตรงสู่เป้าหมายแห่งพระพุทธศาสนาที่แท้แล้ว ยังปิดกั้นเส้นทางที่แท้จริงอย่างแน่นทึบเสียอีก อันเป็นผลให้ การศึกษา “ที่เป็นมาแล้วและที่กำลังเป็นอยู่ ไม่เป็นทางที่จะพบพระพุทธเจ้าได้” (ไม่อาจนำไปสู่มรรคผลนิพพานได้ ไม่สามารถก่อเกิดกระแสธรรมขึ้นมาได้ และแล้วการศึกษาทุกระบบก็หันเหไปสู่ทิศทางที่ผิดไปตาม ๆ กัน จนกลายเป็นการศึกษาระบบ"หมาหางด้วน"ไปทั้งสิ้น)
เราน่าจะวิเคราะห์ความเป็นจริงที่ตรงประเด็นของการศึกษาทุกระบบของคณะสงฆ์ไทยนั่นก็คือ ผลการศึกษาสามารถสร้างกระแสแห่งมรรคผลนิพพาน สามารถนำสู่มรรคผลนิพพานได้หรือไม่ นั้นแหละเป็นหลักการพิจารณาสำคัญ ลองตั้งคำถามว่า การศึกษาเปรียญหรือวิชาแปลบาลี เคยมีหรือไม่ที่ทำให้บรรลุสู่กระแสธรรมอันสูงส่งแห่งพระพุทธศาสนา? การลาสิกขาของท่านผู้รู้เหล่านั้น บอกอะไรเกี่ยวกับมรรคกับผล? (ลองเปรียบเทียบกับการศึกษาของพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสนาสายหลวงปู่มั่น หรือแม้ท่านพุทธทาสภิกขุเองที่หลามหลายด้วยหมู่แห่งผู้บรรลุมรรคผลนิพพาน ทั้ง ๆ ที่การศึกษาหรือเปรียญปริญญาแทบไม่ปรากฎเลย แต่สามารถบรรลุสู่เป้าหมายที่แท้แห่งพระพุทธศาสนาได้) หากไม่เช่นนั้น ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมีการปรับปรุง ? มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลกจะพลอย(หางด้วน)ไปด้วยหรือไม่ ก็อยู่ที่การวิเคราะห์ตรงจุดนี้
ถ้ากระนั้นอะไรคือเป้าหมายของการที่จะปรับปรุงทางวิชาการพระพุทธศาสนา ? ก็ต้องจัดใหม่ ให้คืบไปเป็นระดับขั้นตอนของไตรสิกขา คือมี “กริยา” หรือ “ตัวการกระทำ” (เอาภาคปฏิบัติ อย่าดีแต่พูด) เป็นหลัก เป็นวิถีทางที่จะคืบดำเนินไป แล้วให้เกิดสมดุลระหว่างระดับ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ คือ ถ้าปฏิบัติยังไม่มียังไม่ดี ก็รอ ๆ คือพักปริยัติไว้ก่อน เอาปฏิบัติให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน จึงค่อยคืบต่อไปในปริยัติ หรือหากปฏิเวธยังไม่มียังไม่ได้สมตามขั้นตอนที่ควรจะมีจะได้ตามปริยัติ ตามปฏิบัติ ก็ต้องเพียรเอาปฏิเวธให้ได้ก่อน ให้เกิดการสมดุลย์ของทุก ๆ องค์ประกอบเช่นนี้ จึงจะทำให้การศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นไปอย่างมีความสนุก มีความหวัง หรือที่ท่านพุทธทาสท่านว่ามี “มหรสพทางวิญญาณ” เกิดขึ้น การศึกษาธรรมจึงจะสนุกสนานและสามารถก้าวคืบหน้าในชั้นสูงต่อไปได้ อย่างมีชีวิตชีวา(การศึกษาปฏิบัติธรรมที่ยิ่งพากเพียรไปยิ่งแห้งแล้งไร้ความหวังนั้นน่าจะผิดเสียแล้ว ควรทบทวน ที่ถูก มีมหรสพทางวิญญาณ คือความสนุกสนานในการฟันฝ่าไปในวิถีธรรม แม้ว่าจะยากลำบาก หรือเสี่ยงต่อชีวิตหรือแม้ด้วยอุปสรรคเพียงใดก็ตามแต่ หากแต่ภายในจิตวิญญาณอันล้ำลึกนั้นสนุกสนานอย่างเข้มข้น มีความเต็มใจยินดีที่จะฝ่าฟันไป แม้ว่ามองไม่เห็นฝั่งก็ตาม นั่นแหละคือสัญญาณบอกว่าเราเข้าสู๋ทางที่ถูกต้องแล้ว อุปมาก็จะเหมือนวงการกีฬาเขานั่นแหละ ดูให้เห็นความรู้สึกของพวกเขาที่ซ่อนอยู่ ล้ำลึกใต้สำนึกจิตใจ ยิ่งกีฬาที่เสี่ยงต่อชีวิตเพียงใด เช่นกีฬารถแข่ง ที่ดุจแข่งกับความตาย ปีนเขา ตายกันแล้วกันเล่าแต่พวกเขาก็ยังคงปีน ๆ ๆ ๆ ๆ เพราะมีความสนุกอยู่ลึกซึ้งในความยากและความเสี่ยงนั้น กีฬามรรคผลยิ่งมีความสนุกเฉกเช่นนั้น ยิ่งกว่านั้นหลายเท่าทวีนัก หากแต่ต้องเข้าถึงจิตใจของนักกีฬามรรคผลให้จงได้เท่านั้นเอง จึงจะเล่นกีฬามรรคผลได้สนุกสนาน และจิตใจเช่นนั้นบอกได้เลยว่าคือจิตใจที่เทิดทูนความดียิ่งชีวิต(อยู๋ในคริสต์ธรรมว่า มอบชีวิตไว้ในอุ้งหัตถ์พระเจ้า=มอบชีวิตไว้ในความดี) จึงต้องสร้างจิตใจขึ้นให้ได้จริง อย่าเพียงแต่พูดจะเสียเวลาแห่งชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ในภายหลัง)
3. คำว่า ”แห่งโลก” ขอยืนความคิดเดิม คือควรจะมีเพื่อนชาวพุทธต่างชาติมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการมากขึ้น อยากเสนอสาม-สี่สุด คือสุดหนึ่งชาวพุทธอเมริกัน และอีกสุดหนึ่งชาวพุทธจีน(ต้องจีนคอมมิวนิสต์ จีนไต้หวันทีหลัง) อีกสุดหนึ่งคือที่เกิดและที่สิ้นสุดแห่งพุทธศาสนาคือ พุทธอินเดีย และอีกสุดสี่คือสุดโลกาภิวัตน์ คือพุทธญี่ปุ่น สมมติฐานในที่นี้ก็คือ ชาวพุทธบางหมู่เหล่านี้มีความคิดค่อนข้างจะล้ำหน้าไปสุด ๆ ญี่ปุ่น น่าจะล้ำหน้าที่สุดจนชาวพุทธไทยอาจไม่คิดว่าเขาเป็นพุทธ แม้ว่าจริง ๆ พวกเขานั่นแหละพุทธแท้ ๆ(แต่คนละด้าน) หากไม่ได้ญี่ปุ่นควรเอาพุทธฮ่องกงมาแทน เพราะญี่ปุ่นและฮ่องกงสามารถแทนกันได้เป็นอย่างดี และความคิดพุทธ ที่อยู่ในญี่ปุ่นและฮ่องกงเป็นแบบเดียวกัน ส่วนพุทธอเมริกันนั้น เป็นเรื่องที่น่าฉงนฉงายมาก และเราจะสามารถศึกษาพุทธอเมริกันได้จาก ข้อสมมติฐานว่า “พุทธอยู่ในคริสต์ และคริสต์อยู่ในพุทธ” (ลองสังเกตหนังสือ พุทธธรรม-คริสตธรรม ของท่านพุทธทาสภิกขุ ) ซึ่งประเด็นนี้ นักวิชาการพุทธศาสนาควรจะต้องรีบเร่งศึกษาให้เกิด วิชชั่นขึ้นมาให้ได้ นั่นแหละจักเห็นภาพ ความกว้างใหญ่ไพศาลของพุทธธรรมที่ครอบครองโลก ในอีกมิติหนึ่งที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาธรรมดา หากแต่ต้องตานักวิชาการ ส่วนพุทธอินเดียนั้น เราต้องการทราบสิ่งที่อยู่ในก้นบึ้งหัวใจของพวกเขา ว่าทำไมสิ่งที่มีค่าสูงสุดอันเป็นภูมิปัญญาวิเศษของอินเดีย ประชาชาติอินเดียอันกว้างใหญ่เคยรับนับถือมา จึงถูกปฏิเสธ มหาตมคานธี ได้บอกประชาชนของท่านเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาว่าอย่างไรบ้าง ? มหาตมคานธีเป็นพระอรหันต์หรือ? ท่านรู้อะไรที่เป็นปรมัตถธรรมสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาบ้าง ?
4. ขออนุโมทนา ท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธาน สพก. ที่ กริยา ของท่านบอกให้รู้สิ่งที่ดีที่งาม ที่ก่อให้เกิดความหวังและก่อเกิดกำลังใจแด่ชาวพุทธ
ก็ขอเสนอไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน ขอเจริญพร
ปญฺญาธโรภิกขุ
ปล. โยมถวายสวนให้อยู่ เขาให้ตั้งชื่อเอาเองก็เลยได้ชื่อแทนวัด-แทนมูลนิธิฯ ว่าจะใช้เป็นที่สงบเพียงดังสุสานจึงตั้งอย่างนั้น ว่าจะตั้งชื่อหนังสือใหม่ และลงที่อยู่ที่พิมพ์ใหม่ด้วย กำลังคิดอยู่ มีความเห็นอะไรกรุณาบอกไปด้วย. ปธร./๑๕ ก.ย.๔๐
{ คอลัมน์ วิเคราะห์ข่าวสำคัญ }
วิเคราะห์ข่าวการศึกษาสงฆ์
ศน.ลุ้นมหาเถรฯไฟเขียวแผนศึกษาสงฆ์
จาก:ไทยรัฐ หน้า ๑๒ การศึกษา-ศาสนา วันพฤหัสบดีที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐
นางบุญศรี พานะจิต ผอ.กองแผนงานกรมการศาสนา(ศน.) เปิดเผยว่า จากการที่กรมได้ยกร่างแผนพัฒนาพระพุทธศาสนาฉบับที่ ๘ เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาสงฆ์นั้น ขณะนี้แผนดังกล่าวได้เสนอเข้าสู่คณะกรรมการของคณะสงฆ์ ซึ่งมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศเป็นประธาน ปรากฎว่าที่ประชุมได้มีมติรับหลักการในแผน ๘ ของกรมเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ๕ ชุด เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมกับทางกรม ประกอบด้วย
๑. คณะกรรมการฝ่ายแผนพัฒนาการศึกษาสงฆ์ มีพระธรรมปัญญาจารย์ อธิการบดีมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นประธาน
๒. ฝ่ายแผนการเผยแผ่พุทธศาสนามีพระธรรมกิตติวงศ์ วัดราชโอรสาราม
๓. ฝ่ายแผนการดำเนินงานศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยเรียน พระธรรมวราจารย์วัดบวรนิเวศ
๔. ฝ่ายแผนพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชน พระธรรมวราจารย์ และฝ่ายพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการระดมสรรพกำลัง มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เป็นประธาน ทั้งนี้ จะนำเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ในวันที่ ๑๐ ก.ย. นี้ และหาก มส.เห็นชอบก็จะเริ่มดำเนินการได้ทันที”
บทวิเคราะห์
ประเด็นสำคัญคือ พัฒนาและยกระดับการศึกษาสงฆ์
อะไรบ้าง ที่เรียกว่า การศึกษาสงฆ์ มีอยู่ดังนี้คือ บาลีศึกษา(ป.๑-๒ - ป.ธ.๙), นักธรรม(น.ธ.ตรี โท เอก) - ธรรมศึกษา(สำหรับนักเรียนและประชาชนทั่วไป มีธรรมศึกษาตรี-โท-เอก), การศึกษาแผนกสามัญศึกษา: ระดับมัธยม(ร.ร.พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาของคณะสงฆ์เองและของเอกชนที่เรียกว่า โรงเรียนการกุศลของวัด) และอุดมศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยเอง และเปิดโอกาศให้พระสามเณรเข้ารับการศึกษาได้ในมหาวิทยาลัยภายนอกระบบสงฆ์อย่างจำกัดบางลักษณะวิชา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ(เช่น อินเดีย) และยังรวมถึงโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่พระสงฆ์ดำเนินการเองด้วย
เดิมนับแต่สมัยพระพุทธเจ้า ๆ เองทรงตรัส (โปรดดูธรรมบท:จกฺขุปาลตฺเถรวตฺถุ ยมกวคฺควณฺณนา) ว่าการศึกษามี๒ลักษณะคือ คันถธุระ (คนฺถธุรํ) และวิปัสนาธุระ (วิปสฺสนาธุรํ) ขอได้โปรดมาตรึกมาตรองให้ลึกซึ้งด้วยวิจารณญาณ และด้วยความมุ่งผลสัมฤทธิ์ในผลบั้นปลายอย่างจริง ๆ จังๆ (ไม่พึงกระทำไปอย่างมักง่ายหรือโดยเลินเล่อ ไม่เอาจริง ซึ่งจะเป็นอาการแห่งความประมาท) ว่า การศึกษาสงฆ์ปัจจุบันเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสทั้ง๒อย่างนั้นเพียงใด
และเราควรจะต้องมาพิจารณาอย่างเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับหนึ่งว่า แผนศึกษาสงฆ์ดังกล่าวนี้ จักช่วยพัฒนาและยกระดับการศึกษาหลักอันดั้งเดิม คือคันถธุระและวิปัสนาธุระอย่างไรหรือไม่ (มองว่าการศึกษาของสงฆ์ได้เอื้อให้สงฆ์ได้รู้ธรรมะ ได้เข้าใจธรรมะ ได้บรรลุธรรมะ อาจรู้แจ้งสัจธรรมจนสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือไม่ หรืออย่างน้อยก็ เป็นไปในวิถีทางแห่งมรรคผล หรือเอื้อต่อมรรคผลนิพพานหรือไม่)
ถ้าโครงสร้างของแผนนั้นไม่อาจพัฒนาหรือไม่อาจยกระดับการศึกษา๒อย่างคือคันถธุระและวิปัสนาธุระเลย นั่นบอกให้รู้ว่า การศึกษาสงฆ์กำลังหลงทางไปสุดกู่ เพราะมิใช่การศึกษาที่จะสนองงานหรือภาระหน้าที่ของพระสาวก (โปรดศึกษาจาก การศึกษาระบบเจดีย์ยอดด้วน ของท่านพุทธทาสภิกฺขุ) และนั่น บอกให้รู้ว่า เป็นเพราะผู้ที่ร่างแผนใดใดเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา หรือพัฒนาระบบใดใดของสงฆ์ น่าจะเป็นผู้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแท้จริงในเรื่องราวของธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมชาติแห่งวิถีทางธรรมะ ไม่เข้าใจเป้าหมายปลายทางอันอันแท้จริงของการศึกษาแห่งพระพุทธศาสนา
ย่อมจะพากันหลงทางไปสู่ความตกต่ำ
เดี๋ยวนี้ เรามีปัญหาอย่างมากมายในวงการศึกษาของสงฆ์เอง เพราะวิถีทางการศึกษาสงฆ์ได้เตลิดไปตามวิถีโลก ลองพิจารณาจากหัวข้อการศึกษาสงฆ์ข้างต้น บาลีศึกษา ก็เป็นเพียงปริยัติ ไม่มีปฏิบัติ ไม่มีปฏิเวธ และทุกวันนี้หาภิกษุสามเณรเข้าเรียนโดยสมัครใจแทบไม่มี ต้องมาอาศัยแผนกสามัญศึกษาเป็นหลัก คือได้กลุ่มสามเณรที่มาสมัครเรียนแผนกสามัญศึกษาแทบทั้งหมดเข้าเรียนบาลีศึกษาด้วย ระบบบาลีศึกษาจึงอยู่รอดได้ ข้อบกพร่องมีอย่างไรก็ดูเหมือนจะรู้กันดี แต่อยากชี้ให้ดูจุดหนึ่งคือวิธีการสอนภาษาบาลีนั้น จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย ให้เหมาะ ให้เข้าได้กับระบบการศึกษาแบบใหม่สายสามัญศึกษา ตามวิธีการของการศึกษาสากล ซึ่งได้โน้มเข้าหาวิธีการศึกษาแบบธรรมชาติศึกษากันทุกระบบแล้ว การศึกษาแผนกธรรมศึกษา(ตรี โท เอก) แก้ยาก เพราะไม่มีคนเรียน ธรรมศึกษา ก็บกพร่องจนยากจะเอ่ยอ้าง (มีนักเรียนบางคนบางชื่อ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ต้องตกใจเมื่ออยู่ดี ๆ ก็ได้ประกาศนียบัตรธรรมศึกษาตรีกับเพื่อนด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เรียนไม่ได้สอบกับเขา มีข้อเท็จจริงคล้ายกันนี้อีกมากมาย พวกเราก็รู้กันดี และเราก็รับความจริงและพากันยิ้มสำรวมไปตาม ๆ กันอยู่แล้ว เรามารับความจริงเพื่อจะแก้ไขกันให้ถูกจุดดีกว่า)
ข้อสำคัญคือปัญหามาตรฐานการศึกษา ที่ได้ลดลงไปตามลำดับ ๆ บาลีศึกษาที่เคยเคร่งครัด แต่ก่อนจาก ป.ธ.๘ จะขึ้น ป.ธ.๙ บางรูปตกแล้วตกอีกอยู่ถึง ๙ ปีจึงผ่านขึ้น ป.ธ.๙ ได้ หรือแม้กระนั้นก็ยังไม่อาจผ่านไปได้นั้นเป็นเรื่องธรรมดา เดี๋ยวนี้คนภายนอกคงนึกว่าเก่ง คงนึกว่าการศึกษาสงฆ์เจริญขึ้น เปล่าหรอก แต่เป็นเพราะมาตรฐานการศึกษาบาลี จำต้องลดหย่อนลงมา และเป็นเช่นเดียวกันนี้ทุกระบบการศึกษา และนี่เป็นปัญหาที่ค่อยสะสมมาเป็นเวลาอันเนิ่นนานตามลำดับ ๆ จริงอยู่ สงฆ์ได้มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อองค์สังฆราชาคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์สกลมหาสังฆปริณายกขณะนั้น แต่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานทางด้านคันถธุระเท่านั้น และยังไม่ทันละเอียด ยังไม่สมบูรณ์พอ ก็สิ้นสมัยพระองค์ท่านเสียก่อน
ในด้านการศึกษาฝ่ายวิปัสนาธุระ น่าจะมามองตรงที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ; อาสภมหาเถร) ได้ทรงเริ่มขึ้นในวัดมหาธาตุ พอเป็นแบบอย่างให้จำเริญรอยตามและพัฒนาการไป(ท่านเคยพาพระ๕๐๐รูปเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ด้วยเท้าเปล่า ไปถึงนครสวรรค์:การเดินทางไกลเป็นเหตุให้ต้องถือธุดงค์จำนวนหลายข้อ:ใน ๑๓ ข้อ โดยอัตโนมัติ) เดี๋ยวนี้ก็มีขบวนการธรรมปฏิบัติที่สืบต่อมาอยู่ทุกปี น่าจะลองเอามาพิจารณายกระดับปรับคุณภาพ ตามเป้าหมายของการศึกษาฝ่ายวิปัสนาธุระดังกล่าวนี้ด้วย
อนึ่ง น่าจะนำเอาประวัติศาสตร์หมู่สงฆ์อีสาน นับแต่หลวงปู่มั่น ภูริทตโฺต(ปรมาจารย์ฝ่ายวิปัสนาธุระ จอมทัพธรรมแห่งอีสาน) หลวงปู่ฝั้น อุตฺตโม หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต(พระผู้สมบูรณ์แม้การเกิดและการตาย) หลวงปู่ดุล อตุโล หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่สาม อจินฺโน หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (สละตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดออกเดินธุดงค์จนบรรลุธรรมสูงสุด) หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่แหวน สุจินโน หลวงพ่อจวน กุลเชษโฐ ตราบมาถึงรุ่นปัจจุบัน มีหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม หลวงพ่อขา สุภทฺโท(หลวงพ่อของศานุศิษย์ทั้งหลาย) หลวงปู่มหาบัว ญาณสัมปนฺโน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสงฆ์ชาวอังกฤษ ลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา เช่นท่านชาคโรภิกฺขุ หรือท่านชอน ชยสาโร (วัดป่านานาชาติ อุบลราชธานี (ปฏิบัติธรรมอยู่ไม่ถึง ๗ ปี ก็ได้พบชีวิตใหม่) มาวิเคราะห์หาแนวทางปฏิบัติอันเป็นแบบอย่าง เพื่อใช้เป็นมาตรฐานทางการศึกษาในด้านวิปัสนาธุระ ที่จะอำนวยประโยชน์บรรลุผลอย่างแท้จริงยิ่ง
อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงปัญหาการศึกษาไม่ว่าทางใด ควรจะเปิดใจกว้างและยอมมองดูหมู่กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมหมู่อื่น ๆ บ้าง ไม่ควรรังเกียจกันทางวิชาการ
กระนั้น ปัญหาที่ใหญ่และยังคงครอบแนวทางพัฒนาการไปในวิถีทางอันถูกต้องของการศึกษาสงฆ์ทั้งคันถธุระและวิปัสนาธุระดังกล่าว ก็คือปัญหายศศักดิ์ หรือปัญหาขุนนางพระ นั่นเอง อันนี้เป็นปัญหารากเหง้าของการพัฒนาสงฆ์จริง ๆ ซึ่งนักวิชาการการศึกษาควรจะลองเริ่มต้นศึกษาและสังเกตความหมายนี้จากข้อเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุ เช่น “การศึกษาทางเจือด้วยยศศักดิ์” “ที่เป็นมาแล้วและที่กำลังเป็นอยู่ ไม่เป็นทางที่จะพบพระพุทธเจ้าได้” และ "การศึกษาระบบด้วน”
แต่ในขณะนี้ยังเห็นได้ว่ามีความพยายามอยู่ ลองศึกษาจากหนังสือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ องค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่มหนังสือที่บอกเป้าหมายการศึกษาทางวิปัสนาธุระทั้งสิ้น เช่นหนังสือ “แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน”, “อนุสสติและสติปัฏฐาน”, “ลักษณะพระพุทธศาสนา”(เกี่ยวกับวิปัสสนา ๑๖ ขั้น) และ “สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ” เป็นต้น
หนังสือบางเล่มที่กรมการศาสนาจัดพิมพ์ เช่นของ พิฑูร มลิวัลย์ เรื่อง “สภาวธรรมพื้นฐาน” หรือของพระเทพมุนี(วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) เรื่อง “คู่มือการศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน” หรือหนังสือบางเล่มที่เสนอแนวทางใหม่แปลกแต่มีข้อคิดทางปฏิบัติหรือทางวิปัสนาธุระอยู่ในนั้นเช่น “ทางมรรคผลนิพพาน ธรรมปฏิบัติถึงธรรมกายและพระนิพพาน” โดยพระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล เป็นต้น
หนังสือที่กล่าวมาแล้วนี้ ได้บอกวิถีทางที่ควรยึดเป็นแนวทางการพัฒนาและยกระดับการศึกษาสงฆ์ไปในทิศทางที่พึงและควรเป็นไปของสงฆ์ คือ วิปัสนาธุระ ที่พอให้ผู้ศึกษามองเห็นภาพรวมทั้งสิ้นของงานด้านวิปัสนาธุระ อย่างไรก็ตาม แนวความคิดในหนังสือดังกล่าวอาจจะยังไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ (อาจจะอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร จะต้องทำอย่างไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งน่าจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมในบางเรื่อง บางประเด็นแห่งธรรมะ เช่นเดียวกันกับแนวคิดที่ค่อนข้างทันสมัยและเป็นวิทยาศาสตร์ของท่านพุทธทาสภิกขุที่ล้ำเลิศ แต่ควรต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติม และยึดเอาตามแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้นเป็นหลัก)
และยังมีหนังสืออยู่อีกเล่มหนึ่งที่ควรยึดเป็นหลักกลาง ๆ ก็คือ พุทธธรรม ของท่านพระธรรมปิฏก และเพื่อความเข้าใจแนวความคิดแนวการศึกษาที่ถูกต้อง ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกันต่อไปและเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้แสดงความคิดอ่านอย่างกว้างขวางด้วย ฯ
การสถาปนามหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก
วิเคราะห์จากเอกสาร : หลักการและเหตุผลในการสถาปนามหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก ฉบับนำเสนอคณะรัฐมนตรี และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
ดูจุดประสงค์ทั่ว ๆ ไป ว่า “จะเน้นเรื่อง การศึกษาวิจัย การฝึกอบรม และการปฏิบัติสมาธิภาวนา” ซึ่งจะยกระดับให้เป็นสากล วิธีการ “ไม่มีการเรียนการสอนเพื่อประสาทปริญญาบัตรอย่างมหาวิทยาลัยทั่วไป” เราจะได้เกียรติมีหน้ามีตาขึ้นเพราะ “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลกจะตั้งอยู่ในประเทศไทย ณ พุทธมณฑล” “ในฐานะเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งโลก” องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก(พ.ส.ล.) เป็นผู้เสนอแนวความคิดนี้ โดยมีเสียงที่ให้ความเห็นชอบและสนับสนุนของภาคีสมาชิกขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกจำนวน ๑๒๓ ศูนย์ ใน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง ๓๗ ประเทศ และปีนี้นับว่ามีกาลที่เหมาะสมควรถวายเป็นสังฆราชานุสรณ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เจริญพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๐
บทวิเคราะห์
การจัดองค์การและวิธีการศึกษาของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลกอาจจะแปลกออกไป เช่น “ไม่มีการสอนเพื่อประสาทปริญญาบัตร” ถ้าเช่นนั้น สอนเพื่ออะไร ? มองเผิน ๆ ก็คล้ายจะไปเน้นการศึกษาระบบเดิมคือ “คันถธุระ”(งานวิจัยทางวิชาการ) และ “วิปัสนาธุระ”(การปฏิบัติสมาธิภาวนา) ซึ่งมีเป้าหมายอย่างสูงยิ่งเพื่อการหลุดพ้น สู่มรรคผลนิพพานหรือโลกุตตรธรรม ซึ่งนับว่าเป็นมูลเค้าที่ดีน่าชื่นชม หากแต่แนวคิดทางปฏิบัติยังขาดรายละเอียดหรือความหมายที่บอกว่ามีการมองลงไปลึกซึ้งถึงขนาดนั้น อันสามารถหยั่งลงไปถึงรากแก้วหรือต้นตอแห่งปัญหาการศึกษา อันเป็นจินตนาการแห่งปฏิเวธธรรมเบื้องปลายสุด เพื่อให้เป็นพื้นฐานแห่งการกำหนดวิธีการศึกษาที่ย่อมจะพลอยลึกซึ้งตามไปด้วย หากการมองปัญหายังตื้นอยู่ วิธีการศึกษาก็ย่อมจะพลอยตื้นเขินตามไปด้วย และก็จะไม่สามารถอำนวยผลให้มีการศึกษาถึงปัญหาที่เป็นรากแก้วหรือต้นตอแห่งการศึกษาอันแท้จริงได้ ซึ่งในที่สุด การศึกษาก็จะค่อยถดถอยหรือลดมาตรฐานทางการศึกษาลงไป ๆ เฉกเช่นการศึกษาของคณะสงฆ์ตามที่เป็นอยู่ขณะนี้
ฉะนั้น ขั้นตอนในการร่างหลักสูตรหรือร่างแนวทางปฏิบัติธรรม หรือแม้กระทั่งแนวการวิจัยธรรม หรือการฝึกอบรมให้ถึงธรรม จะต้องเป็นขั้นตอนที่พิจารณาแนวคิดทางปฏิบัติมาตรฐานให้ลึกซึ้ง ที่จะต้องประสานและสอดคล้องกับแบบแผนมาตรฐานทางคันถธุระ(หรือปริยัติธรรม) ๓ ลักษณะ คือปริยัติธรรมล้วน ๆ ๑ (คือมุ่งศึกษาเพื่อให้รู้ไปทั้งหมดในเรื่องทฤษฎี เป็นปริยัติธรรมเพื่อปริยัติธรรมอย่างเดียวล้วน ๆ) ปริยัติธรรมแห่งการปฏิบัติธรรม ๑ (คือศึกษาให้รู้แนวทางปฏิบัติ ให้รู้เท็คนิกการปฏิบัติธรรมในขั้นตอนต่าง ๆ) และ ปริยัติธรรมแห่งปฏิเวธธรรม อีก ๑ (คือศึกษาให้เข้าใจผลการปฏิบัติธรรม เพื่อความเข้าใจเรื่องมรรคผล เพื่อทราบผลที่เกิดจากการพ้นกิเลส หรือการพ้นทุกข์) เพราะเมื่อเข้าใจแล้ว จักนำไปสู่การพิจารณากำหนดมาตรการทางการปฏิบัติธรรมอันเป็นมาตรฐานแห่งระดับตามความง่ายและความยากของการปฏิบัติ ที่จะไปสัมพันธ์กับผลสำเร็จคือระดับแห่งปฏิเวธธรรมที่ประสงค์
เพราะเมื่อบรรลุสู่ปฏิเวธธรรม มีมรรค ผลนิพพานเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ปริญญาบัตรหรือเกียรติบัตรใดใดจึงจักไร้ความหมายไปเสียโดยสิ้นเชิงได้ หากมิฉะนั้น ก็อาจจะกลายเป็นลักษณะของการศึกษาที่เฉไป เป็นอย่างเดียวกับการศึกษาที่เป็นอยู่ปัจจุบันในวงการสงฆ์ขณะนี้ (คือการศึกษาที่ปราศจากเป้าหมายแห่งพระพุทธศาสนาที่แท้จริง คือไม่มีมรรคผลและนิพพาน)
ฉะนั้น จะต้องตรวจสอบกันว่า แนวคิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตรงกันในหลักการเช่นนี้หรือไม่เพียงไร
คณะรัฐมนตรี มองประเด็นสำคัญของการศึกษาในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก ตามแนวคิดนี้ เพียงไร
เพื่อให้การอุปถัมภ์และการตรวจสอบเป็นไปอย่างถูกต้อง
นั่นคือ ให้ความอุปถัมภ์ในบางอย่าง เท่าที่ไม่ขัดหลักการแห่งความสันโดษของนักบวช ของผู้ศึกษาแก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนา และในบางอย่างต้องให้การอุปถัมภ์อย่างเต็มที่ จนเพียงพอให้การปฏิบัติหรือการศึกษาธรรมสามารถบรรลุสู่ความรู้แจ้งหรือไปสู่กระแสแห่งธรรม คือมรรค ผล นิพพานได้ฯ
{คอลัมน์กัลยาณมิตร}
ท่านยังไม่รู้จักพุทธทาสภิกขุ 4
ความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ ของท่านพุทธทาสภิกขุต่อการสร้างสรรค์งานทางพระพุทธศาสนา ในบางปัญหา ท่านมิได้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ท่านซ่อน ความหมายเอาไว้
ในปัญหาการศึกษา ลองดูจาก “มหาวิทยาลัยต่อหางสุนัข” ที่ท่านบรรยายในเดือน ต.ค.๒๓ ณ ลานหินโค้ง สวนโมกขพลาราม โดยที่ท่านเองได้เรียกชื่อการบรรยายชุดนี้ว่า ”บรมมหาวิทยาลัยต่อหางสุนัข ๑๐ ชั่วโมง”
มีคำอธิบายปก โดย วศ.ว่า “..ภาพนี้สุนัขเฒ่าเริ่มได้คิดว่า การศึกษาที่ไม่ทำให้คนมีธรรมะมีศีลธรรมอยู่ในเนื้อในตัวนั้นไม่ใช่การศึกษา เขาจึงจัดการต่อหางสุนัข ด้วยการนำเอาศีลธรรมมาเป็นหลักนำของการศึกษา”
ลองดูก่อนว่า มหาวิทยาลัยต่อหางสุนัข ของท่านพุทธทาสภิกฺขุ เล่มนี้ ซึ่งจัด พิมพ์ขึ้นโดยคณะเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ(ผชป.) พ.ศ.๒๕๒๖ เนื้อหาเป็นอย่างไร
เรื่อง “มัชฌิมาคือหนทาง” ท่านพูดถึงทางสายกลาง ว่าคือ ความถูกต้อง ความพอดี หรือความสมดุลย์ คือทำอะไร ๆให้พอดี ๆ จึงจะไม่ล้มคว่ำ การปฏิบัติ ธรรมต้องให้เกิดสมดุลย์ระหว่างมรรคทั้ง ๘ จึงจะไปสู่นิพพานได้ ในระดับสูงสุด สมดุลย์ คือกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทคือแล้วแต่เหตุปัจจัย และการไม่ยึดมั่นถือมั่น ท่านสรรเสริญว่า มัชฌิมาปฏิปทาเป็นตัวพรหมจรรย์ เป็นตัวพุทธศาสนา เป็นกัลยาณมิตร เป็นโพธิปักขิยธรรม เป็นหนทางดับทุกข์โดยสิ้นเชิงอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
เรื่อง “ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ” อะไรทำให้ไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบ ตอบกิเลส อนุสัย อาสวะ เหตุมาจากอะไร มาจากการปรุงแต่ง แก้ได้อย่างไร ใช้ปัญญาเป็นอาวุธแล้วก็จะถึงความสะอาด ความสว่าง ความสงบ “ถ้าระดับสูงสุดเป็นพระอรหันต์ ก็สะอาด สว่าง สงบเต็มที่, หรือจะเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันก็น้อยลงมา, น้อยลงมา..”
เรื่อง “พบชีวิตจริง” ชิวิตจริงต้องถึงตัวตนแท้คือธรรมะ ชีวิตจริงต้องเข้าถึงความสะอาดสว่าง สงบ ชีวิตปลอมหรือตัวตนปลอมบอกได้จากทุกข์ หนักและเร่าร้อนที่มีอยู่ วิธีการเข้าถึงชีวิตจริงคือมัชฌิมาปฏิปทา อย่าให้โอกาสแด่กิเลส มีธรรมะเป็นตน,หาตนที่เป็นธรรมะ;พบตนแล้วก็ดับทุกข์ได้ “ก็ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์,และพบพุทธศาสนา ได้บวช..”
เรื่อง “ทุกสิ่งอยู่เหนือปัญหา” ปัญหาคือความหมายเดียวกันกับทุกข์ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะพบวิมุตติ คือหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วก็อยู่เหนือปัญหาทั้งปวง จะหลุดพ้นต้องมีปัญญารู้จักตถาตา หรือ ตถา: ความเป็นเช่นนั้นเอง “ผู้ที่ถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติธรรม เห็นตถา เห็นสิ่งที่คงตัวไม่เปลี่ยนแปลงนั้นแล้ว เรียกว่า ตถา ในฝ่ายพระพุทธศาสนาเราเรียกว่า พระอรหันต์”
สิ่งที่ควรสังเกตก็คือ สาระธรรมที่ท่านพุทธทาสพูดถึงในหนังสือเล่มนี้ ล้วนเป็น เรื่องสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาคือเป็นเรื่องความดับทุกข์ เรื่องความสะอาดสว่างสงบ เรื่องการค่อยพ้นไปจากกิเลสตั้งแต่ระดับพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ไปจนถึงระดับพระอรหันต์ เรื่องธรรมะชั้นสูงสุดคือตถา ตถตา ตถาคต ซึ่งเป็นความหมายแห่งพระอรหันต์ทั้งสิ้น ความหมายที่ซ่อนอยู่ของท่านพุทธทาสก็คือ แท้ที่จริงการศึกษา ของสงฆ์นั่นเองที่ยังเป็นการศึกษาที่ด้วนอยู่ ส่วนที่ด้วนไปก็คือการศึกษาชนิดที่พาหมู่ไปสู่ความพ้นทุกข์ สู่พระนิพพาน สู่ความเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่ระดับล่างสุดไปถึงสูงสุดอันเป็นเป้าหมายปลายทางที่แท้จริงของพระพุทธศาสนานั้นเอง ที่มิได้มีในการศึกษาของคณะสงฆ์เลยในขณะนี้ และเมื่อมีการเปิดการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่ ๆ ก็ล้วนแต่เป็นการเรียนการสอนที่พาด้วนตาม ๆ กันไปทั้งสิ้นจึงเรียกว่าการศึกษาระบบ… ด้วน
และสถานการณ์ขณะนี้ก็ยิ่งกว่า หมาหางด้วน อย่างที่คณะผชป.ระบุเอาไว้หรือยิ่งกว่าเจดีย์ยอดด้วนเสียอีก เพราะจะเป็นตาลด้วนอยู่แล้ว
เมื่อตาลด้วน ไม่นานมันก็ตาย
จึงต้องช่วยกันคิดและทำกันอย่างหนัก เพื่อจะแก้ไขทิศทางหรือต่อการศึกษาฝ่ายสงฆ์อย่างไร จึงจะให้เกิดวิถีทางมรรคผลนิพพานขึ้นมาได้ ไม่ให้เป็น เพียงตามฝ่ายโลกเขาไปทุกอย่าง อย่างไม่รู้เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา สงฆ์ อย่างไม่รู้หน้าที่ที่แท้จริงของสถาบันการศึกษาสงฆ์
ไกลกิเลส
ต.ค.๔๐
ประวัติของผม พระพยับ ปญฺญาธโร
พระผู้มีปกติอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ (๓)
ประวัติของผมเป็นเรื่องราวที่อยู่ภายในจิตใจ และบางเหตุการณ์ก็เป็นเรื่องลับที่ไม่มีผู้ใดรู้เห็นด้วย เหตุการณ์สำคัญเริ่มตั่งแต่เป็นเด็กอ่อน ยังไม่รู้เดียงสา ที่ผมเฝ้ามองดูดวงตะวันตกดิน นั้นได้มีความหมายมากในทางจิตวิญญาณของผม พอ ๆ กับเรื่องราวของนิมิตที่ปรากฎในการเห็นโดยสมาธิจิตวัยนั้น ที่คนในหมู่บ้านพากันเชื่อว่ามีผีหรือวิญญาณร้ายสิงอยู่ที่เสาเรือน และซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของสังคมชนบทพื้นฐานทั่ว ๆ ไปในเรื่องผีต่าง ๆ นับแต่ผีหลอก ผีกระสือ ผีกระหัง ผีเปรตที่ห้อยโหนบนกิ่งโพธ์ในวัด ผีฟ้า(รำผีฟ้ารักษาคนป่วย)ซึ่งผมเคยแอบไปดูแล้ววิ่งหนีสุดชีวิต ผีปอบ และกระบวนการไล่ผีที่ผมเองทั้งกลัวทั้งสงสัยโดยตลอดมา จนกระทั่งเห็นหมอธรรมลงแส้คนป่วยจนถึงตายไปก็เคยเห็นในหมู่บ้านของผม(กรณีนางสาวจำปา อนุพันธ์ ลูกสาวป้าธัมมา พี่สาวคุณพี่ทองจันทน์ และผู้ใหญ่สายันต์ อนุพันธ์ บ้านอยู่ตรงข้ามบ้านผมป่วยแล้วนักธรรมมารักษา จนที่สุดว่าผีแรงต้องไล่ด้วยหวาย ผมได้ยินเสียงนักธรรมเอาแซ่หวายลำยาวใหญ่เท่าหัวแม่มือ(ที่ผมแอบไปเห็นวางอยู่ใกล้ ๆ คนป่วย)หวดฟาดลงไปยังร่างคนป่วยควับ ๆอย่างแรงสนั่นหวั่นไหวไปหมด ซึ่งแม้ผมจะกลัวจนตัวสั่น แต่ก็คิดแย้งอยู่ในใจว่าไร้ความเมตตากรุณา ในทัศนะของผมขณะนั้น ซึ่งต่อมาไม่นานคุณน้าจำปาก็เสียชีวิต และผมได้เก็บความสงสัยเอาไว้โดยตลอดมาว่าเธอตายเพราะผีเข้าจริงหรือ แต่กระนั้น ในอีกส่วนหนึ่งก็คือความกลัวในสิ่งที่ลึกลับก็เพิ่มทวีฝังใจผมตลอดมา)
เมื่อผมเข้าไปเรียนหนังสือต่อมัธยม และอยู่บ้านอาว์ที่จังหวัดศรีสะเกษนั่นเอง ปลายปีนั้นคุณพี่ขาน ต้นวงศ์ ลูกของลุงบุญหนาได้มาอยู่ที่บ้านอาว์ด้วย ท่านเพิ่งเรียนจบวิทยาลัยครูมา เพิ่งจะเข้าสอนในโรงเรียนผมไม่กี่เดือน แล้ววันหนึ่งก็เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงพี่ขานถูกรถไฟชนบดทับขาดกลางตัวอย่างน่าสยดสยอง ที่ห้วยทับทัน เขตต่อกับจังหวัดสุรินทร์
วันนั้นคนที่บ้านอาว์ผมไปช่วยงานกันหมด ไปอุทุมพรพิสัยและแล้วเลยไปเอาศพพี่ขานกลับมาบ้านขี้เหล็ก ตลาดอำเภออุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ อันเป็นบ้านลุงผม ที่บ้านศรีสะเกษมีแต่ผม เอ้ป และสมถวิล(ลูกชายและลูกสาวอาว์ผม) กับอาว์ผู้หญิง อาว์ล้วน เติมใจ เท่านั้นเอง ตกกลางคืนท่านก็เอาผ้ายันต์ผืนหนึ่งแขวนไว้ที่ขอบประตู ท่านบอกว่าผ้ายันต์กันผี ผีตายโหงมาจะกลัวไม่กล้าเข้า ซึ่งฟังน่าหวาดกลัวจริง ๆ
คืนนั้น จนดึกดื่นแล้วผมก็นอนไม่หลับ ทุกคนดูเหมือนจะหลับกันกันไปหมดแล้ว เหลือแต่ผมคนเดียว เห็นนอนคลุมโปงกันเป็นแถว ผมเองก็คลุมโปงเหมือนกัน ผมเฝ้าแต่กังวลกลัวว่าวิญญาณพี่ขานจะมา คิดเรื่องที่ผู้ใหญ่บอกว่าผีตายโหงมันจะต้องกลับมาที่ที่เคยอยู่เคยกินเคยอาศัย ผมมั่นใจว่า นี่เป็นที่อยู่ที่กินที่เคยอาศัยของพี่ขาน วิญญาณของพี่ขานก็ต้องมาแน่ ๆ มีคราวหนึ่งที่ใต้ถุนบ้านมีเสียงเป็ดไก่ร้องกันลั่นสนั่นเหมือนพวกมันพากันแตกเล้าออกไป อาว์ผมลุกขึ้นไปดูเพราะคิดว่างูเขียวหรืองูเห่ามากินลูกเจี๊ยบ ได้ยินเสียงอาว์พูดว่า ขานเอย ขอให้ไปสู่ที่สงบ ๆ เถิดนะ อย่าห่วงเลย ไหน ๆ ไปแล้วก็ขอให้ไปดี อย่ามาใกล้ลูก ๆ หลาน ๆ เลย ลูกหลานจะกลัว ผมได้ยินก็ขนลุกซู่ ชั่วครู่ท่านก็กลับเข้ามาในห้อง ดับตะเกียงนอน ผมก็ยังหลับ ๆ ตื่น ๆต่อไป พร่ำภาวนาให้รุ่งแจ้งเสียที จนกระทั่งไก่ขัน ซึ่งเป็นเวลาประมาณตี ๓ ผมก็ตื่นตัวสุดขีด เพราะคล้ายอุปาทานได้ยินเสียงคล้ายคนเดินขึ้นบรรไดเรือนมา เปิดประตู แล้วเดินเข้ามาภายในบ้าน ได้ยินเสียงคล้ายฝีเท้าเดินไปที่ห้องครัว ที่พี่ขานกินข้าว แล้วเดินไปห้องน้ำที่ล้างมือ ล้างหน้า แล้วเดินเข้ามา ใกล้เข้ามาทางห้องพี่ขานนอน ซึ่งอยู่ข้าง ๆ ห้องพวกเรานอนอยู่นั่นเอง สักครู่คล้ายได้ยินเสียงเคาะประตูห้องนอนของพี่ขานเป็นจังหวะ ๆ ผมหลับตาแน่นแทบไม่หายใจกลัวว่าถ้าลืมตาแล้วจะเห็นอะไร ๆ และกลัวจะได้ยินเสียงเรียก แต่ก็ไม่มีอะไรอีก เงียบลงไป ถึงไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นแต่ผมก็ทรมานไปทั้งคืนนั้น
สิ่งที่ผมได้จากประสบการณ์คราวนั้นก็คือ ได้รู้ว่าตัวเองมีความทุกข์ทรมานมากเหลือเกิน หลายคืนผ่านไปอย่างเชื่องช้าทำให้รำคาญตัวเอง และเริ่มมองเห็นสัจธรรมว่า เราเห็นจะไม่มีความสุขในชีวิตหากมัวแต่กลัวผีอยู่ ได้นำไปสู่การตัดสินใจว่า ชีวิตจะต้องเอาชนะความกลัวให้ได้เท่านั้นจึงจะอยู่เป็นสุข (และในที่สุดภายหลังการต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนานมาร่วมสิบ ๆ ปี ผมก็สามารถทำได้ดั่งใจปรารถนา เมื่อสามารถเอาชนะความกลัว กลับตาลปัตร ได้เห็นป่าช้า เพียงดังบ้านที่ผมเข้าไปอยู่พักผ่อนได้อย่างสงบและสบายดุจบ้านตัวเอง ไม่ว่าป่าช้าชนิดใด ๆ และในโลกนี้)
ผมยังคงชอบน้ำอยู่เหมือนเดิม เมื่อน้ำห้วยสำราญล้นฝั่งพวกเราก็พากันไปเล่นน้ำกันที่สะพานดำ(สะพานรถไฟ)และสะพานขาว(สะพานรถยนต์) ผมแต่งตัวเป็นโซโรตามที่เห็นในภาพยนต์ โหนเถาวัลย์ออกไปแล้วพุ่งหลาวลงกลางน้ำ พอโผล่ขึ้นมาผ้าคลุมปิดหัวแน่นดึงอย่างไรก็ไม่หลุด หลงทาง ถูกกระแสน้ำพัดพาไปช้า ๆ พี่เสถียร บริบาล (พ.ต.อ.เสถียร บริบาล ส.น.พระราชวัง กทม.) ญาติผม ว่ายไปกระชากผ้าคลุมออก แต่ก็ไม่ออก เกือบตกกระแสน้ำใหญ่ไปด้วยกัน ทุลักทุเลเข้าฝั่งได้โดยปลอดภัย แล้วก็พากันหัวเราะ วันต่อมาก็เกิดเรื่องอีก ผมโหนเถาวัลย์ไปผิดที่ พุ่งลงไปชนตอใต้น้ำอย่างจัง จนหูอื้อไปหมดแทบสิ้นสติอยู่ใต้น้ำ พอโผล่ขึ้นมาคลำหัวดูปรากฎว่าหัวยุบลงไป เป็นหลุมลึกมาจนถึงวันนี้
ผมได้รู้จักชื่อคนสำคัญ ๆ มาแต่เด็ก ๆ หลายคน คนแรกคือ มหาตมะ คานธี พ่อผมเล่าว่า ท่านเป็นผู้นำทางการศาสนาที่กอบกู้เอกราชอินเดียจากอังกฤษ โดยต่อสู้ด้วยวิธี อหิงสา คือไม่ถือโกรธ เขาจับไปเข้าคุกก็ไม่โกรธ เขาจะฆ่าก็ยอมให้เขาฆ่าแต่ไม่โกรธ จนในที่สุดอินเดียทั้งประเทศพากันลุกขึ้นพร้อมกันเพื่อเดินตามหลังท่าน ท่านเล่าให้เพื่อนครูด้วยกันฟัง ท่านว่ามหาตมะ คานธี มีเส้นลายมือแปลกกว่าคนอื่น เพราะมีเส้นสมองสองเส้น ท่านว่าเหมือนเส้นสมองในฝ่ามือของผม แล้วท่านให้ผมเข้าไปหาแบมือผมออกดู ชี้ว่ามีลายมือสมองคู่ อีกคนหนึ่งที่พ่อผมเอ่ยนามก็คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เวลาพ่อผมเอ่ยนามท่านผู้นี้ ผมรู้สึกว่าท่านมีความนิยมเอามาก ๆ ท่านว่าคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ยกย่องว่าเป็นคนมีความคิดก้าวหน้ามาก มีแผนเศรษฐกิจล้ำหน้า(ภายหลังท่านตั้งชื่อน้องชายผมคนหนึ่งตามชื่อท่านปรีดี พนมยงค์นี้) และอีกท่านหนึ่งก็คือ หลวงวิจิตรวาทการ วิธีที่พ่อผมพูดถึงคนสำคัญ ๆ เหล่านี้ ผมรู้สึกว่า คม บาดใจ น่าฟัง น่าสนใจ ไม่เหมือนฟังคนอื่นพูด เมื่อท่านพูดถึงหลวงวิจิตรวาทการ ท่านก็เล่าว่า เวลาไปสอนที่ธรรมศาสตร์ หลวงวิจิตรวาทการจะออกข้อสอบ ท่านจะบอกนักเรียนเลยว่าข้อสอบจะออกตรงนั้นตรงนี้นะ หน้านี้แหละจะออก ให้ไปอ่านดูให้ดี ๆ ซึ่งพ่อผมนิยมว่าหัวคิดแบบนี้ก้าวหน้าไปอีกแบบหนึ่ง ในเรื่องการเรียนการสอน ท่านเล่าว่าหลวงจิตรวาทการเคยเป็นเปรียญ ๕ ประโยค เริ่มทำราชการตั้งแต่เป็นเสมียนค่อยไต่บรรไดไปทีละขั้น ๆจนได้เป็นอธิบดี เป็นผู้ที่มีความพยายามสูงส่งมาก และมีอุดมการณ์ดี
สิ่งที่ดลบันดาลใจผมให้สนใจในตัวหลวงวิจิตรวาทการนั้น เป็นเพราะการที่ผมได้อ่านหนังสือวรรณคดีมามากนั้นแหละเป็นมูลเหตุเดิม เมื่อผมอ่านขุนช้างขุนแผน ผมก็ประทับใจในความเป็นวีรบุรุษของขุนแผนอย่างฝังใจและเชื่อ ครั้นผมพบหลวงวิเชียรแพทยาคม ผู้เป็นอาจารย์สอนวิชาจิตวิทยาชั้นปี ๑ ธรรมศาสตร์ ผมอยากฟังท่านพูดถึงเรื่อง การสกดจิต อย่างที่ผมรู้จากเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่ท่านอธิบายไปว่า การสกดจิตในลักษณะที่ผู้ถูกสกดตกอยู่ใต้อำนาจผู้สกดโดยสิ้นเชิงและผู้สะกดจะสั่งให้ทำอะไรก็ได้นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แท้จริงการสะกดจิตก็คือการโน้มน้าวจิตใจให้คนเชื่อถือและปฏิบัติตามเรา นั่นเอง คำว่าโน้มน้าวจิตใจ ไม่เป็นที่สบใจผม ผมต้องการความหมายที่ตรงตามตัวอักษร คือสะกดจิตแปลว่าสะกดจิต (นั่นคือความรู้สึกของผมในชั่วโมงที่รับฟังเรื่องที่สนใจที่สุด ที่ฝังใจผมมาเนิ่นนาน) และแน่นอน ผมไม่ยอมรับหลวงวิเชียรแพทยาคม (อยู่ในใจ ไม่บอกใครหรอก) ผมจะให้เหมือนขุนแผนให้ได้ ฉะนั้น ต่อมาเมื่อผมได้พบหนังสือชื่อว่า กำลังใจ และชื่อ หลวงวิจิตรวาทการผู้แต่งเข้า ผมก็อ่านดู หลวงวิจิตรวาทการอธิบายเหตุการณ์ตอนพระพุทธองค์ปราบชฏิลทั้งสามพี่น้อง นั้นถูกใจผมมาก ท่านเริ่มต้นบรรยายตั้งแต่พระพุทธองค์เสด็จไปพักในปล่องพญานาค ที่พ่นไฟสังหารนักพรตที่เข้าไปลองดีมามากต่อมากแล้ว แต่พระพุทธองค์สามารถหยุดความดุร้ายของพญานาคพ่นไฟได้ ต่อรุ่งเช้าชฏิลผู้พี่ใหญ่คอยเงี่ยหูฟังอยู่ว่า องค์พระสมณโคดมจะรอดกลับออกมาจากปล่องพญานาคหรือไม่ ครั้นเห็นพุทธองค์ออกมา ก็นึกขยาดอยู่ในใจ นึกว่าพระสมณโคดม
ต้องมีอะไรดี ๆ กว่านักบวชองค์อื่นเป็นแน่ ถ้าไม่งั้นคงเอาตัวรอดออกมาจากปล่องพญานาคไม่ได้
ผมยอมรับหลวงวิจิตรวาทการในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจทางจิต กรณีพระพุทธองค์ หลวงวิจิตรวาทการอธิบายว่าพุทธองค์ทรงฝึกจิตชั้นสูงมาจนบรรลุฌานสมาบัติ จึงสามารถทรมานพญานาคพ่นไฟได้ และผมเข้าใจว่า เรื่องราวของอภินิหารนั้นน่าจะมีอยู่จริงในทัศนะของหลวงวิจิตรวาทการ
และหลวงวิจิตรวาทการก็อธิบายเรื่องราวของอภินิหารทางจิตออกมาในหนังสือของท่าน ที่สำคัญก็คือ กำลังใจ กำลังความคิด มหัศจรรย์ทางจิต และมันสมอง
ซึ่งผมหามาและอ่านแล้วทำตามคำแนะนำในหนังสือนั้นอย่างเคร่งครัดเอาเป็นเอาตายใน ระหว่างที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การฝึกฝนนั้นมี ๒ อย่าง คือฝึกฝนด้านกำลังความคิด กำลังใจ และฝึกฝนด้านกำลังกายประกอบกันไป
ผมอยากจะบอกว่า เมื่อผมมาอยู่กรุงเทพนั้น ผมมิใช่มาเรียนวิชาการในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยอย่างเดียวตามที่คนเห็น ๆ หรือเท่าที่พ่อแม่หรือพี่น้องของผมเข้าใจเท่านั้น หากแต่ผมเรียนวิชาถึงสามอย่างในขณะเดียวกัน คือ ๑ เรียนวรรณคดีต่อมาจากสมัยเมื่อเด็ก ๆชั้นประถมและมัธยม ๒. เรียนวิชาการตามหลักสูตรมหาวิทยาลัยที่ผมสังกัด และ ๓ เรียนและฝึกตนเองอย่างหนักทางจิตตามแนวหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งอย่างที่ ๑ และอย่างที่ ๓ นั้น ผมเรียนด้วยตนเอง อย่างที่ ๑ ผมมีห้องสมุด
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหอสมุดแห่งชาติเป็นสถาบันหลัก มีหนังสือที่สะสมไว้เองที่บ้าน ที่นี่ผมก็อ่าน ๆ ๆ ๆ และอ่านต่อไป และยังมีอีกแห่งหนึ่งอันเป็นสนามฝึกจิตวิญญาณของผมที่สำคัญมากและมีความหมายอันยิ่งใหญ่สำหรับผมก็คือ โรงภาพยนต์เท็กซัส พรานบูรพ์ และบริเวณโรงภาพยนต์เท็กซัสขณะนั้น ซึ่งผมใช้ที่แห่งนี้อย่างเป็นเอกราชเฉพาะตัวผม ไม่มีใครอื่นมาร่วมด้วย อย่างที่ ๒ คือการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษา รวมทั้งชีวิตนักศึกษาในห้องเรียนมหาวิทยาลัยและกิจกรรมพิเศษ คือหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย และยูงทอง รวมทั้งสถานีวิทยุ มธ. และอย่างที่ ๓ เป็นการศึกษาที่แทรกไปในทุก ๆ อย่างทุก ๆ ชีวิตประจำวันของผมในขณะนั้น นั่นก็คือระบบชีวิตประจำวันของผมได้ถูกบริหารถูกควบคุมโดยทฤษฎีแห่งชีวิต ทฤษฎีแห่งการฝึกฝนตนเองเพื่อบรรลุสู่ความมีกำลังใจและอำนาจจิตที่หลวงวิจิตรวาทการเขียนไว้ในหนังสือสี่เล่มดังกล่าว
ผมอยากจะบอกว่า เมื่อผมสำเร็จวิชาการทั้งสามอย่างนี้แล้ว(ผมคิดเอาเองว่าผมสำเร็จแล้ว) ผมจึงได้พบพระพุทธศาสนา(ก็เป็นจังหวะที่ผมได้มีโอกาสเรียนพระพุทธศาสนาอันเป็นวิชาชั้นสูงต่อไป) ครั้นเมื่อผมเริ่มต้นเรียนพระพุทธศาสนาชั้นสูงนั้น ผมก็มีวิธีการศึกษาเป็นพิเศษเฉพาะของผมเอง โดยไม่มีใครสอนผมดอกครับ เริ่มด้วยการเผาหนังสือธรรมะที่เคยอ่านเคยสะสมมาทิ้งหมด ไม่เหลือหลอแม้สักเล่มเดียว เพราะผมจะไม่อ่านหนังสือธรรมะอีกต่อไป โดยเฉพาะพระไตรปิฏก ต้องห้ามเด็ดขาด อ่านไม่ได้ แล้วเผาหนังสือตำราเรียนระดับปริญญาโท ตรีและทุก ๆ เล่มหนังสือทิ้งเสียเกลี้ยง เผาตำราทุกชนิด รวมทั้งตำราโหราศาสตร์ที่เคยศึกษามาอย่างมากมาย เผาหนังสือทุกชนิดไม่ว่าหนังสือใดใด รวมทั้งเผาบันทึกประจำวันจำนวนกว่า ๕๐ เล่ม ที่บันทึกลงสมุดลายไทย๑๐๐แผ่นมาแทบทุกวัน ๆ ตั้งแต่จบชั้นมัธยมปีที่ ๖ ตราบกระทั่งถึงเวลาดังกล่าวนั้นอันเป็นสมบัติที่ผมเคยหวงแหนอย่างยิ่ง ฉะนั้นผมจึงไปตัวเปล่าปราศจากหนังสือแม้แต่เล่มเดียว เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนา ผมหาบ้านใหม่และได้บ้านที่ถูกใจหลังหนึ่ง เป็นบ้านเช่าครับ อยู่ในสวนฝั่งธนบุรี บางขุนเทียน ผมเก็บตัวอยู่ในบ้านสวนนั้น เป็นเวลา ๑๐ ปีเต็ม ๆ ในบ้านที่ว่างเปล่า เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนา จากความว่างเปล่า
ครับ ถูกละ ในช่วงนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ กลับตาลปัตรกัน จากการที่ผมเคยอ่านหนังสือมาอย่างมากมายตั้งแต่เริ่มผสมตัวอักษรไทยเป็นแต่เด็ก ๆ ชั้นประถม จนเเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย จากรสนิยมชอบหนังสือที่ดีมีคุณค่า และสะสมไว้อย่างมากมายจนบ้านกลายเป็นห้องสมุดส่วนตัว กลายมาเป็น นักเผาหนังสือ โดยนำเอาหนังสือทีมีสะสมอยู่ออกมาฉีกใส่ลงในเตาเผาไปทีละแผ่น ๆ เพื่อให้ไหม้เป็นเถ้าไม่มีเหลือหลอ จนกระทั่งเกลี้ยงไม่มีเหลือเลยสักเล่มเดียว หรือแม้กระดาษสักแผ่น จากคนที่เคยอ่านหนังสือเป็นคนที่จะต้องไม่อ่านหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือธรรมะชั้นสุดยอดพระคัมภีร์แห่งพระพุทธศาสนา พระไตรปิฏก ผมจะต้องไม่อ่าน อย่างเด็ดขาด
นั่นแหละวิธีการศึกษาพระพุทธศาสนาของผมตลอดเวลา ๑๐ ปีเต็ม ๆในสวนฝั่งกรุงธนบุรื นั่นเป็นช่วงเวลาระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๑๒-๒๕๒๒
ก่อนจะถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ วันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓ อันเป็นคืนของวันที่ผมลุกขึ้นมานั่งกลางดึก และตั้งแต่คืนนั้น ผมก็ไม่ล้มตัวลงราบกับพื้นอีกเลย กลายเป็น “พระผู้มีปกติอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓” ตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้
เรื่องในรายละเอียดระหว่างนี้คงจะยาว ผมจะค่อย ๆ เล่าไปเป็นตอน ๆว่าผมทำอะไรที่บริเวณเท็กซัส และหลวงวิจิตรวาวทการให้อะไรแก่ผมบ้างก่อนที่ผมจะเผาตำราของท่านทิ้งเสียเกลี้ยง ไม่เหลือแม้แต่เศษกระดาษ ฯ
ผมเอง พยับ ปัญญาธโร ผู้เขียน
เจ้าภาพประจำเดือน
วิเคราะห์ข่าวในวงการเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดภาคอีสาน
ประจำเดือน กันยายน-ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๔๐
พ.ค.๔๐ : อาจารย์ประทิ่น แก้วจันทรา กับคณะ
มิ.ย.๔๐ : คุณพี่สนิท คุณเสรี ทองตัน กับคณะ
ก.ค.๔๐ : อาจารย์ไพรัชช์ เติมใจ กับคณะ
ส.ค.๔๐ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริบาลธุรกิจ ศรีสะเกษ ทำภาชนะบรรจุน้ำสะอาด
ก.ย. ๔๐ : นายเติม คงใจดี อุทิศนางนวล คงใจดี ภริยาผู้ล่วงลับ
ต.ค. ๔๐ : อาจารย์จินตนา จันทร์ส่อง , นายนันทพร ธรรมบุตร กับคู่หมั้น
พ.ย. ๔๐ : อาจารย์ดุษณี บุณฑล
โปรดสมัครเป็นเจ้าภาพประจำเดือนต่อ ๆ ไป
ติดต่อบรรณาธิการ :
วัดมหาพุทธาราม อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ๓๓๐๐๐
โทร. (๐๔๕) ๖๒๒๔๕๕ หรือ
ตู้ ปทจ.๕ศรีสะเกษ ๓๓๐๐๐
โปรดช่วยกันเผยแผ่ออกไป
ใบสำรวจข้อมูล (ครั้งที่๒)
โปรดส่งไปที่ ตู้ปทจ.๕ศรีสะเกษ ๓๓๐๐๐
ท่านผู้อ่านที่เคารพ นับถือ
ความคิดความอ่านของท่าน เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการดำเนินงานส่วนรวมมาก อย่างที่ท่านเองอาจจะนึกไม่ถึง ฉะนั้นเราจึงขอความร่วมมือจากท่านผุ้อ่านดังนี้
ข้อ ๑ ขอให้ท่านตัดกระดาษแผ่นนี้ตามรอยเส้นดำออกมา แล้วกรุณาอ่านข้อ ๒
ข้อ ๒ โปรดอ่านคำถามต่อไปนี้ แล้วเลือกกาเครื่องหมายใด ๆ เช่น + x - อย่างใด อย่างใดอย่างหนึ่งลงหน้าคำตอบที่ตรงกับความคิดของท่านมากที่สุด
คำถาม : ระบบสงฆ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้
…..ควรปฏิวัติ
…..ควรปฏิรูป
…..ควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้น
…..ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำอะไร
…..ไม่พึงคิดการอย่างนี้เลย เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง
ข้อ ๓ ท่านมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง โปรดเขียนลงในที่ว่างข้างล่างนี้ หรือหากที่ไม่พอ ก็สามารถใช้หน้าหลังได้
ท่านไม่จำเป็นต้องบอกชื่อแต่หากท่านจะบอกก็ได้ ดังนี้ :-
(ลายเซน) …………..……………………………..
(บรรจง) (………………..……………………)
ตำแหน่ง ………………………………………….
เราขอจะเก็บชื่อท่านไว้เป็นความลับสุดยอด กรุณาส่งกระดาษแผ่นนี้คืนไปยัง
ตู้ ปทจ.๕ ศรีสะเกษ ๓๓๐๐๐ ขอขอบคุณ
ผลที่ได้เราจะรายงานให้ทราบใน วิเคระห์ข่าวฯ ฉบับต่อไป ๆ ขอขอบคุณ
วิเคราะห์ข่าวในวงการฯ และ มูลนิธิฯ/ ก.ย.-พ.ย. ๒๕๔๐
เครื่องหมายประชาธิปไตยสงฆ์
ประชาธิปไตยสงฆ์
ธงชนะฉะนั้นพลิ้วพิไรอยู่ เพื่อนจุ่งดูรู้ฝืนไปชื่นฉ่ำ
ผู้ร่วมงาน
พระพยับ ปญฺญาธโร
ดร.นันทสาร สีสลับ
"โลเกก" แห่ง นสพ.ประชาธิปไตย
มหาเก่า เข่าขี้เมี่ยง เซียงบ้านนอก
ด้วยจิตวิญญาณ
อันใดคือโคตรเพชร เผล็ดพลังธรรมรุ่งฉาน
กลับทิศผิดทางเนิ่นนาน โคตรเพชรจึ่งสาดแสงแรงร้าย
เพียงกลับทิศทางให้ถูก โลกวิปริตจักพลันหาย
เพียงกลับทิศถูก ทุกข์ก็คลี่คลาย สบาย ชุ่มเย็น เป็นคุณ
ใครเล่าอาจทำให้ได้ หากไม่ออกแรงเองหมุน
สู่อุปถัมภ์ค้ำจุน ประชาราษฎร์ชาติประชาธิปไตย
ปธร.
ปญฺญาธโรภิกฺขุ
ข่าวปกหลัง
เราจะปรับปรุงวิเคราะห์ข่าวใหม่ เป็น หนังสือพิมพ์ดี ในฉบับหน้า
โปรดคอยชม
และสมัครเป็นสมาชิกผู้อ่านหนังสือพิมพ์ดีตั้งแต่วันนี้
-mydocuments ;วิเคราะห์ข่าว เดือน ก.ย.-ต.ค.-พ.ย. 2540