|
ปฏิบัติการ"เอาคืน" รัฐบาล"นอมินี"บี้แนวร่วม"คมช." พายัพ ชินวัตร จะเอาคืนทั้งโคตร
|
 |
|
|
วันที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11045
"ผมจะเอาคืนทั้งโคตร"
"ทุกวันนี้ไปไหนผมไม่กล้าตดเลย เพราะกลัวคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะแจ้งจับในข้อหาทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ แต่ผมไม่เคยกลัวหรอก แม้แต่ความตายยังไม่กลัวเลย สิ่งที่ทำกับผม ผมไม่โกรธ แต่ผมจะจำไปชั่วลูกชั่วหลาน ถ้าเอาคืนได้ผมจะเอาคืนกับพ่อแม่มัน กับพี่น้องมัน กับลูกมัน เอาคืนทั้งโคตรเลย แต่ผมจะเอาคืนด้วยความยุติธรรม เอาคืนด้วยหลักฐาน เอาคืนด้วยเหตุผล ไม่ใช่มากล่าวหาโดยเลื่อนลอย"
พายัพ ชินวัตร
น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ
21 เมษายน 2550
เริ่มจะปรากฏภาพให้เห็นชัดเจนมากขึ้น สำหรับการ "เช็คบิล" กลับกับกลุ่มและบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของคนในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย หลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำปฏิวัติ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
เรื่องนี้ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะหลังจากรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ได้ชื่อว่านายกฯ "นอมินี" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ
ปฏิบัติการเช็คบิลกลับกลุ่มและบุคคลที่เคยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เริ่มปรากฏเป็นข่าวออกมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่การโยกย้ายข้าราชการ นายทหาร ตำรวจ ระดับสำคัญจำนวนมาก โดยอ้างเหตุผลเรื่องความเหมาะสมในการบริหารงานประเทศเป็นหลัก ส่วนสังคมจะเชื่อถือตามหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เพื่อให้เห็นภาพการเช็คบิลกลับที่ชัดเจนมากขึ้น "มติชน" ได้รวบรวมข้อมูลของบุคคล และกลุ่มบุคคลที่กำลังถูกตรวจสอบคืนอยู่ในขณะนี้มานำเสนอเพื่อให้สาธารณชนได้เห็นบรรยากาศ "เอาคืน" กำลังเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทยขณะนี้
คตส.จ่อถูกขอออกหมายจับ
หลังจากทำหน้าที่ไล่บี้ ตรวจสอบปัญหาการทุจริตของคนในรัฐบาลเก่าอยู่กว่าปีเศษ มาวันนี้ ใครจะคิดว่าอยู่ดีๆ เกมที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) วางไว้ ในการแก้ลำบริษัท สำนักงานกฎหมายนิติ เอกราช จำกัด ตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนในครอบครัว ด้วยการส่งตัวแทนไปแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทในข้อหาหมิ่นประมาทและหมิ่นเจ้าพนักงาน เมื่อหลายเดือนก่อน หลังจากที่บริษัทแห่งนี้ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนให้ คตส.เพิกถอนคำสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนในครอบครัว และใช้คำพูดในหนังสือที่ไม่เหมาะสมหลายประการ จะกลายเป็นหอกแหลมคมที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเองแบบนี้
เมื่อ คตส.เข้าแจ้งความกับบริษัทไปแล้ว ก็คิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรีบดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ให้ แต่ผลปรากฏว่า คตส.กลับถูกออกหมายเรียกให้ไปพบพนักงานสอบสวน หลังจากที่บริษัทได้ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความกลับ คตส.ทั้ง 11 คน ในข้อหาแจ้งความเท็จจากการที่ คตส.ไปแจ้งความกับบริษัท
ภายหลัง คตส.ได้รับหมายเรียกตัวแล้ว คตส.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกองปราบปราม เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า คตส.ไม่ได้แจ้งความเท็จทำให้บริษัทเสียหาย เนื่องจากหลักฐานที่นำไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นรายละเอียด และเนื้อความในหนังสือที่ทางบริษัททำมาถึง คตส.เอง ไม่มีการแต่งเติมหรือเสริมต่ออะไรทั้งสิ้น จึงไม่แน่ใจว่าบริษัทจะมาแจ้งความกลับ คตส.ได้อย่างไร
ในหนังสือสอบถามของ คตส.ที่แจ้งไปยังตำรวจ ยังได้ขอสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีที่แจ้งความเอาผิดกับบริษัท ซึ่งได้รับการชี้แจงว่าส่งเรื่องให้ไปให้ทางอัยการสูงสุดแล้ว แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าแท้จริงแล้วมีการรับฟ้องหรือไม่ และเชิญตัวบริษัทมาสอบปากคำหรือไม่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2551 กรรมการ คตส.ทั้ง 11 คน ได้หมายเรียกตัวในคดีนี้เป็นครั้งที่สอง โดยมีการระบุชัดเจนว่า "หากไม่ไปพบพนักงานสอบสวนอาจจะถูกออกหมายจับต่อไป"
กรรมการ คตส.รายหนึ่งให้ความเห็นว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัวชินวัตรที่ คตส.แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาขัดหมายเรียกไป กลับไม่มีความความคืบหน้าอะไร แต่พอเป็นคดีที่เกี่ยวกับ คตส. ตำรวจกลับดำเนินการทันที เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างแรก เพราะ คตส.ยังมีอีกกว่า 10 คดีที่ถูกฟ้อง หลังจากหมดอายุการทำงานไปแล้ว คงจะเจออะไรแปลกๆ อีก
"จารุวรรณ"ลุ้นดีเอสไอสอบคดี สตง.
ประกาศตัวชัดเจนต่อสาธารณชนว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณมาตลอด เนื่องด้วยภารกิจ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของ สตง. ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานรัฐแบบ ปะ-ชะ-ดะ ไม่เกรงกลัวใคร เลยทำให้ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของคนในรัฐบาลชุดที่แล้วมากนัก แถมในช่วงหลังการปฏิวัติก็เข้ามานั่ง คตส.ด้วย
เลยทำให้ชื่อของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ตกเป็นหนึ่งในเป้าหมายมากที่สุด และเรื่องที่จะนำมาเช็คบิลเรื่องไหนคงไม่โดนใจเท่ากับเรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ที่คุณหญิง "เป็ด" กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ใครจะคิดว่า อยู่ๆ เรื่องการจ้างบริษัทเอกชนเข้ามารับงานจัดอบรมความรู้เชิงวิชาการให้ข้าราชการ สตง. งบประมาณแค่สิบล้านบาท จะสร้างความหงุดหงิดใจให้กับคุณหญิงจารุวรรณได้เพียงนี้ เพราะหลังจากที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งหยิกยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นทางสังคม โดยการชูประเด็นว่าบริษัทเอกชนที่เข้ามารับจัดงานอบรม มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคุณหญิงจารุวรรณ เนื่องจากบริษัทแห่งนี้เช่าตึกของสามีคุณหญิงเป็นที่ทำการประกอบกิจการงาน
การว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามารับงานใน สตง.จึงส่อไปในทางว่า จะมีการเอื้อประโยชน์เกิดขึ้น
ภายหลังเรื่องนี้ถูกจุดประเด็นขึ้น ก็มีบุคคลกลุ่มหนึ่งนำข้อมูลไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบต่อและขยายผลการยื่นเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ด้วย ในท่าทีของ ป.ป.ช.ดูเหมือนจะเงียบเชียบ แต่ในส่วนของดีเอสไอกลับออกมารับเรื่องทันที แถมผู้บริหารระดับสูงออกมาระบุว่า จะรับเรื่องสอบให้เป็นคดีพิเศษ
อดีตตุลาการเจอ2ดาบซ้อน
ไม่เพียงโดนย้าย "ฟ้าผ่า" จากตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ไปนั่งตบยุงบนเก้าอี้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เท่านั้น ล่าสุด นายสุนัย มโนมัยอุดม ยังโดนเช็คบิลกลับอีกหนึ่งดาบ นั่งคือ พ.ต.ท.ณรงค์ฤทธิ์ วาพันสุ รอง ผกก.สส.สภ.วังน้อย ได้ขออนุมัติออกหมายจับ เนื่องจากขัดหมายเรียก ไม่มารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนครั้งที่ 2 ในคดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
สืบเนื่องจากนายสุนัยสมัยเป็นอธิบดีดีเอสไอ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 เกี่ยวกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีพยานหลักฐานสามารถเอาผิดได้ พ.ต.ท.ทักษิณเห็นว่าเป็นการชี้นำ เนื่องจากผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณจึงมอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความที่ สภ.วังน้อย ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมส่งหมายเรียกไปให้นายสุนัยทราบ แต่นายสุนัยได้ชี้แจงกลับมาทางหนังสือว่าไม่ประสงค์มาพบพนักงานสอบสวน เนื่องจากไม่มีความผิด จึงมีการขออนุมัติหมายจับเนื่องจากการขัดหมายเรียกของเจ้าพนักงาน
ศาลโดยนายอิทธิพล โชขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ลงนามอนุมัติหมายจับให้เจ้าพนักงานตำรวจจับตัวนายสุนัยไปส่งที่สถานีตำรวจภูธรวังน้อย ภายในอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2550 เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ไม่เกินวันที่ 19 มิถุนายน 2560
เช็คคดีพันธมิตรย้อนหลังถึงปี"48
นอกจากองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ประกาศ คมช.แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีคำสั่งทางวิทยุไปยังหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศรวบรวมคดีความที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะ 5 แกนนำกลุ่ม ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันแล้วส่งรายงานให้ทราบทางเครื่องโทรสารภายในเวลา 20.30 น.วันที่ 4 มิถุนายน 2551 ให้ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นใคร และพฤติการณ์ของกลุ่มพันธมิตรเป็นอย่างไร มีข้อกล่าวหาอะไรบ้าง
เอาคืนทรัพย์สินที่โดนอายัด
ไม่เพียงอาศัยคดีความมาเช็คบิลกลับฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่ผู้มีอำนาจในฝ่ายการเมืองยังได้กดดันกรมสรรพากรอย่างหนักเพื่อให้พิจารณาถอนอายัดทรัพย์สินของนายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ที่กรมสรรพากรอายัดไว้ 1,200 ล้านบาทเศษ ฐานไม่ยอมจ่ายภาษีจากการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จากบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ รวม 329 ล้านหุ้นในราคา 1 บาท ซึ่งถูกกว่าราคาตลาด ทำให้มีภาระต้องเสียภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่มที่ต้องจ่าย 1.18 หมื่นล้านบาท เมื่อทั้งสองไม่ยอมจ่ายภาษีตามที่กรมประเมิน กรมจึงอายัดทรัพย์มาชำระภาษีให้ครบตามที่ประเมิน
ขณะนี้คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีเตรียมนัดประชุมพิจารณาว่าจะคืนทรัพย์สินที่อายัดไว้ให้หรือไม่ หลังจากทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์มาว่าอายัดไว้ไม่ได้ ท่ามกลางแรงบีบอย่างหนักของผู้มีอำนาจทางการเมือง
เมื่ออำนาจรัฐ โดยเฉพาะตำรวจและดีเอสไออยู่ในมือรัฐบาล "นอมินี" ปฏิบัติการ "เช็คบิลกลับ" และ "เอาคืน" ฝ่ายตรงข้าม "ระบอบทักษิณ" ย่อมไม่ยุติลงเพียงเท่านี้
หน้า 2
| | | |
ข่าวการเมืองแฟ้ม 1
|