4. เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ควบกับร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
หรับหน้าบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ดีฉบับนี้ เรามีข่าวที่เพื่อสหธรรมิกควรทราบก็คือ เรื่องคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่...) พ.ศ....โดยควบกับร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ...ในขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ก็ได้ทำการประชุมร่างยุทธศาสตร์การเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้มีการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะทำงาน ในวันที่ 8 กรกฎาคม2548 เพื่อฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ก่อนเสมอไปยังรัฐบาลเพื่อให้การสนับสนุนดำเนินต่อไป ทางหนังสือพิมพ์ดี ได้มีข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมวันที่ 8 กรกฎาคม2548 โดยผนวกแนบไปกับข้อเสนอของ ดร.นันทสาร สีสลับ ซึ่งเป็นฝ่ายรับผิดชอบในการร่างยุทธศาสตร์ ดังกล่าวนี้โดยตรงด้วย โปรดคำวิพากษ์และข้อเสนอแนะร่างยุทธศาสตร์การเผยแพร่พระพุทธศาสนาของคณะกรรมาธิการการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา โดย ดร.นันทสาร สีสลับ และพระพยับ ปัญญาธโร หน้า 10
สำหรับประเด็นสำคัญในวันนี้ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ...กับ ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ..ซึ่งคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย ร.ท. ดร.กุเทพ ใสกระจ่าง ประธานคณะกรรมาธิการฯและคณะได้ทำการร่างขึ้นบนหลักการใหม่ และได้นำไปเปิดการวิพากษ์ ฟังข้อคิดเห็นของหมู่สงฆ์ และชาวพุทธ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี ในวันที่ 28 ก.ค.2548 ซึ่งในการประชุมและสัมมนาในวันนั้นทางคณะกรรมาธิการการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้อาราธนานิมนต์พระเดชพระคุณท่าน เจ้าคุณ ดร.พระเทพวรมุนี( วิบูล กล๐ ญาโณ )เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษไปเป็นองค์ปาฐกนำเรื่อง และในที่ประชุมมี ท่านเจ้าคุณพระศรีวรเวที รองอธิการบดี มจร.วิทยาเขตอุบลราชธานี ฝ่ายนักปราชญ์ฆราวาสก็มีอาจารย์สุบรรณ จันทบุตร เป็นต้นและพระพยับ ปญญาธโร บก.นสพ.ดี ก็ได้รับนิมนต์ไปร่วมงานครั้งนี้ด้วย มีพระเถรานุเถระหมู่สงฆ์อุบลราชธานี ศรีสะเกษและอีสานเข้าร่วมประชุมประมาณ 200 รูป ฆราวาสประมาณ 150 คน
และโดยหลักการแล้ว เห็นว่าที่ประชุมสงฆ์ชาวพุทธในวันนั้น เห็นชอบในหลักการทั้ง 2 ร่างโดยองค์ปาฐกได้เสนอสำหรับการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาไว้หลายวิธี นับแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีบทบัญญัติรับรองว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย และให้มีกระทรวงพระพุทธศาสนาขึ้นดูแลศาสนาพุทธไทยโดยตรง และดูเหมือนว่าที่ประชุมเห็นด้วยและยอมรับเป็นอย่างดีในเรื่องร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์(ฉบับที่..) พ.ศ. ..ที่ประชุมดูจะมีความพอใจ โดยมองว่า แต่ดั้งเดิมมา การออกกฎหมายเพื่อการคณะสงฆ์ล้วนแต่ออกโดยรัฎฐาธิปัตย์ คืออำนาจรัฐมาครั้งนี้ก็เป็นที่น่ายินดีที่ได้เนื้อหาสาระตรงกับความต้องการของหมู่สงฆ์ไม่มีปัญหาข้อโต้แย้งแต่อย่างใด
สำหรับหนังสือพิมพ์ดีเราพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับแล้ว มีความพอใจ อย่างไรก็ตามในด้านการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนานั้น ควรจะมีบทบัญญัติปรามหรือป้องกันลัทธิ พิธีกรรมหรือความเชื่องมงาย ไว้ในมาตรการใดมาตรการหนึ่งด้วย เพราะเดิมมาตลอดถึงเวลานี้นั้น เรามักจะมีข้อกำหนดควบคุมเฉพาะชาวพุทธหรือหมู่สงฆ์ฝ่ายเดียว เมื่อทำผิดก็เป็นความผิดของประชาชนและหมู่สงฆ์ แต่ลัทธิพิธีกรรมงมงายหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิทรงเจ้าและพิธีกรรมไสยศาสตร์ต่างๆซึ่งแอบแฝงมาในรูปของวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นและต่างชาติได้มีมากขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ หากปล่อยให้เป็นไปอยู่ตามปกติอย่างนี้แล้ว ก็เท่ากับไม่อุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา เพราะปล่อยให้สิ่งที่ผิดธรรมของพระพุทธศาสนาเจริญไปได้ โดยไม่มีการปราบปรามเลย คนก็จักไหลไปเข้าข้างฝ่ายผิด ฝ่ายงมงายไปหมด เราจึงขอให้คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร,รัฐสภา หรือรัฐบาล ได้กรุณาพิจารณาเพิ่มเติมไปอีกหนึ่งประเด็นสำคัญด้วย
ในเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เรามีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมไปดังนี้
(1.) สายการบังคับบัญชาของมหาคณิสสร ที่มีถึง 7 ระดับ ค่อนข้างยาวไป จะไม่สอดคล้องกับมหาสังฆสมาคม ที่มีเพียง 2 ระดับ การที่มีระดับยาวเกินไปจะขัดหลักการสังฆสมาคมอยู่ในตัวเองที่เน้นความเสมอกันในคุณธรรม ความรู้และวิชาการ มากกว่าจะไปเน้นระบบอำนาจ และไม่รับกับการบริหารราชการฝ่ายบ้านเมือง จึงควรตัดระดับหรือสายการบังคับบัญชาของมหาคณิสสรลงไปอีก ให้เหลือน้อยลงไปอีก โดยให้ประสานกับฝ่ายบ้านเมืองได้พอดีกัน เพื่อลดระดับอำนาจลงมาอีก
(2.) ควรจะให้ความสำคัญกับงานฝ่ายวิปัสสนาธุระอย่างสูงพอๆกับมหาคณิสสร ในที่นี้เราขอเสนอให้เพิ่มเติม โดยอยู่ในสายงานของมหาสังฆสมาคมไปพลางๆก่อน และให้มี 2 ระดับคือศูนย์วิปัสสนาธุระ ระดับชาติ กับ คณาจารย์วิปัสสนาธุระเท่ากับเป็นระบบอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาโดยตรง ที่มีความหมายถึงปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ แห่งพระพุทธธรรมทั้งสิ้น ทำให้เกิดความสมบูรณ์ในการจัดระบบงานทางพระพุทธศาสนา ที่จะอุปถัมภ์พระพุทธเจ้าได้ตรงประเด็นขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระบบงานวิปัสสนากรรมฐานนี้ควรระวังการแบ่งชนชั้นโดยระบบอำนาจให้ดีด้วย
เรามีความหวังว่า ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ร่างนี้ จักได้รับความชอบจากหมู่สงฆ์ไทย และรัฐบาลเห็นชอบดำเนินการต่อไป ภายในหลักการนี้