สนธิ ลิ้มทองกุล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- สำหรับความหมายอื่นหรือบุคคลอื่นที่ชื่อ สนธิ ดูที่ สนธิ
สนธิ ลิ้มทองกุล (7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ) เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ ผู้ดำเนินรายการกลางแจ้ง เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร และเคยเป็นผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ก่อนที่ถูกระงับการถ่ายทอดเนื่องจากการกล่าวถึงพระราชอำนาจ
ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ศาลล้มละลายกลางได้พิพากษาให้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นบุคคลล้มละลาย [1]
ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2546 สนธิได้เขียนข่าวทำนายว่าเงินดอลล่าร์สหรัฐจะตกต่ำในปี พ.ศ. 2553 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลดการส่งออก[2] และขณะเดียวกันแนะนำให้ผู้คนลงทุน ด้วยการซื้อทองสะสมไว้
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2549 สนธิเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำการชุมนุมเพื่อขับไล่ พต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ประวัติ
สนธิ ลิ้มทองกุล (ชื่อเดิม ตั๊บ แซ่ลิ้ม) เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่จังหวัดสุโขทัย ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำ โดยเป็นลูกของนายวิเชียร แซ่ลิ้ม อดีตสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง และผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยหว่างผู่ กับนางไชย้ง แซ่ลิ้ม ทั้งคู่มาตั้งรกรากทำกิจการโรงพิมพ์ และออกหนังสือพิมพ์จีน จำหน่ายให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร
สนธิ จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยม จากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา รุ่น18 เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับทนง พิทยะ หลังจากจบจากโรงเรียนประจำที่อัสสัมชัญศรีราชา สนธิ ถูกส่งตัวไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวัน พร้อมกับเรียนวิชาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เป็นเวลาปีเศษ ก่อนที่จะไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ยูซีแอลเอ เมืองลอสแอนเจลิส และปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัยยูทาห์สเตต เมืองโลแกน รัฐยูทาห์ นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์ ที่วิทยาลัยฮาร์ตวิคก์ เมืองโอนีโอนตา รัฐนิวยอร์ก และได้รับปริญญาสาขาประวัติศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังจบการศึกษาได้ศึกษาต่อ MBA ที่ประเทศออสเตรเลีย ได้รับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
ต่อมานายสนธิได้บริจาคเงินสร้าง The Sondhi Limthongkul Center for Interdependence (The S.L. Center for Interdependence) ให้แก่ วิทยาลัยฮาร์ตวิคก์[3]
นายสนธิ สมรสกับนางจันทน์ทิพย์ ลิ้มทองกุล (ช่องดารากุล) ชาวจังหวัดตรัง เมื่อ พ.ศ. 2516 ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 9 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีบุตรชายด้วยกันคือ นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารกิจการในเครือผู้จัดการ
นายสนธิ เข้าทำงานเป็นบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย เมื่ออายุได้เพียง 27 ปี จากนั้นได้ร่วมกับพร (หรือ พอล) สิทธิอำนวย ตั้งบริษัท Advance Media ในเครือพีเอสเอกรุ๊ป ออกหนังสือดิฉัน แต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงได้ขายกิจการให้กับนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา สนธิกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง ด้วยการตั้งบริษัท ตะวันออกแมกกาซีน ทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายเดือน เมื่อปี 2526 และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ จากความสำเร็จในการเป็นหนังสือแนวธุรกิจชั้นนำของผู้จัดการรายสัปดาห์และรายเดือน ทำให้สนธิ นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2533 ปัจจุบันหุ้น MGR ถูกตลาดหลักทรัพย์แขวนป้ายระงับการซื้อขาย เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท
นายสนธิ เคยเป็นที่ปรึกษากลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และ อาจารย์พิเศษ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับฉายาจากสื่อต่างประเทศว่า Media Mogul หรือ Media Tycoon
[แก้] คดีความ
 |
เนื้อหาในส่วนนี้ไม่ได้รับการยอมรับเกี่ยวกับความเป็นกลาง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน และต้องการการแก้ไขโดยด่วนเพื่อสอดคล้องกับการเป็นสารานุกรม กรุณาดูบทสนทนาที่เกี่ยวข้องที่หน้าพูดคุยของบทความนี้ |
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2550 นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 10 คนถูกศาลอาญารัชดาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และปรับบริษัท ไทยเดย์ดอตคอมเป็นเงินอีก 2 แสนบาท ในข้อหากล่าวหานายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มุ่งทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นผู้สนับสนุนให้มีการจัดทำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ประเทศสวีเดน ด้านนายสนธิกล่าวว่าจะเตรียมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์วงเงิน 1 แสนบาทเพื่อยื่นประกันตัว และจะยื่นอุทธรณ์คดี [4] และล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ผลกระทบจากการนำเสนอข่าวของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทำให้ต้องคำพิพากษาฐานหมิ่นประมาท พตท.ทักษิณ ชินวัตร จากศาลชั้นต้นโทษจำคุก 3ปี โดยไม่รอลงอาญา คำพิพากษาฉบับย่อ ระบุว่า "พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่านายสนธิกล่าวหมิ่นประมาทโจทก์เป็นลำดับมีการเปิดประเด็นใหม่อย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้มุ่งพิสูจน์ความจริงตามหลักนิติธรรม บางครั้งปล่อยให้เป็นที่สงสัยกำกวม เร่งเร้าให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคมก่อให้เกิดความครอบงำบิดเบือนเนื้อหาข้อมูล ทำให้ขาดดุลความเป็นจริง หวังมุ่งสร้างกระแสเพื่อโค่นล้มโจทก์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยไม่ใช้วิธีการที่รัฐธรรมนูญในขณะนั้นกำหนดการกระทำดังกล่าวกระทบโครงสร้างทางสังคมครั้งใหญ่ เกิดความขัดแย้งอย่างมากระหว่างผู้ที่สนับสนุนโจทก์กับฝ่ายตรงข้ามกับโจทก์ต่างมุ่งหน้าห้ำหั่นล้างผลาญกันทุกวิถีทาง สถานภาพของสังคมไทยเกิดความสูญเสียทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ
ทางนำสืบของนายสนธิ และ พฤติการณ์การกล่าวปราศรัยของนายสนธิตามวัตถุพยานหมายเลขวจ.5ก็ดี การแต่งกายของนายสนธิไม่ว่าสีของเสื้อที่ใช้สีเหลือง อันเป็นสีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและตัวอักษรที่หน้าอกเสื้อคำว่า"เราจะสู้เพื่อในหลวง"ตามเอกสารหมายเลข ล.1ก็ดีล้วนพยายามสร้างภาพของโจทก์และผู้สนับสนุนโจทก์ให้มีภาพยืนตรงข้ามกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพยายามสร้างภาพของนายสนธิกับพวกให้อิงแอบแนบชิดกับสถาบันพระมหากษัติรย์อันเป็นสถาบันสูงสุดที่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าต้องเทิดทูน เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับพวกไม่จงรักภักดีทำตัวเสมอพระมหากษัตริย์ หรือไม่ถวายพระเกียรติพระมหากษัติรย์ เป็นการแยกประชาชนคนไทยนที่จงรักภักดีบางส่วนให้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติในการที่นายสนธิ พยายามดึงสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคราพเทิดทูนสูงสุดของประชาชนทุกหมู่เหล่า มาเป็นเครื่องมือในการกำจัดโจทก์กับพวกในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะร้ายแรงและ เพื่อมีให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคล หรือคณะบุคคลอื่นๆต่อไปจึงไม่รอการลงโทษนายสนธิ"
[แก้] เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร
สัญลักษณ์เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร
จุดเริ่มต้นของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 ในขณะนั้น รุ่นน้องของสนธิ ได้เข้าไปทำรายการชื่อ "เมืองไทยรายวัน" ณ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. โดยนำเสนอเป็นรายการความรู้ ข่าวสาร และปกิณกะ อยู่ จนกระทั่งเกิดปัญหาทางด้านการเงิน ค้างชำระกับทาง ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. จนในที่สุดรายการก็ถูกถอดออก และรวมเวลาทั้งหมดไปออกอากาศในวันศุกร์แทน ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เมืองไทยรายสัปดาห์" เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 แต่ก็ยังคงนำเสนอเนื้อหาเดิมแบบเมืองไทยรายวัน จนกระทั่งทาง อสมท. ได้ปรับผังใหม่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 สนธิ ลงมาเป็นผู้ดำเนินรายการเอง ร่วมกับ พิธีกรสาว นางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์
ในเดือน กันยายน พ.ศ. 2548 หลังจากที่ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ระงับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และถูกฟ้องร้องโดยนายกรัฐมนตรีขณะนั้นทักษิณ ชินวัตร ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา เป็นจำนวนเงินรวม 2,000 ล้านบาท ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท และดูหมิ่น สนธิได้จัดรายการของตนเองขึ้นมาใหม่ ในชื่อว่า เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร โดยจัดเป็นเวทีนอกสถานที่ ณ หอประชุมเล็ก และ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ลุมพินีสถาน เวทีลีลาศ สวนลุมพินี ทุกคืนวันศุกร์ โดยเนื้อหาของรายการเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นการกล่าวถึงการคอรัปชันของนายกรัฐมนตรี รัฐบาล และเครือญาติมิตร เพียงอย่างเดียว ภายใต้สโลแกน "เราจะสู้เพื่อในหลวง" "ถวายคืนพระราชอำนาจ" และ "ขอเป็นยามเฝ้าแผ่นดิน" ทำให้มีผู้สนใจเข้าชมรายการเป็นจำนวนมาก[1] ในขณะเดียวกัน สนธิก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงการกล่าวอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย เพื่อให้รายการของตนเองมีผู้ชมเข้าชมเป็นจำนวนมาก และหวังผลในด้านอื่นๆ ด้วย
รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ได้มีเก็บข้อมูลบทสนทนาในรายการที่ผ่านมาทั้งหมด รวมทั้งเสียงบันทึกรายการ ด้วยระบบออนไลน์ รวบรวมไว้ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ทำให้ผู้คนเข้าเว็บไซต์เพิ่มขึ้นประมาณเกือบสองเท่า จากประมาณ 80,000 เป็น 150,000 คนต่อวัีน[2] นอกจากนี้ ได้มีการแจกฟรีซีดีบันทึกเสียงจากรายการที่ผ่านมา ให้แก่ประชาชนทั่วไป ที่บริเวณหน้าวัดพระแก้วและบริเวณต่างๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ และจัดจำหน่ายวีซีดีบันทึกภาพงาน และเสื้อเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร
[แก้] การวิพากษ์วิจารณ์
ปลายปี พ.ศ. 2548 ทักษิณได้ฟ้องร้องต่อนาย สนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, นางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการร่วม เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร และพวก เป็นจำนวนเงินสูงถึง 2,000 ล้านบาทและตามมาด้วยคดีอาญามากมาย เพื่อให้หยุดการกล่าวหาเกี่ยวกับ "ปฏิญญาฟินแลนด์" โดยจุดนี้ทำให้ดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก (World Press Freedom) ที่จัดอันดับโดย องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ตกลงจากอันดับ 59 ไปที่อันดับ 107 [5][6]
นักวิจารณ์หลายคนให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนายสนธิ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลประโยชน์ของประชาชน โดยอ้างว่ากำลังต่อสู้กับระบอบทักษิณ อย่างไรก็ตามบางท่านกล่าวว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาเคลื่อนไหวเพราะผลประโยชน์ส่วนตัว อีกทั้งข้อกล่าวหานายกทักษิณของนายสนธินั้น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคนบางกลุ่มว่าเกิดจากอคติส่วนตัว และบางข้อกล่าวหามีเหตุผลที่ไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ทาง พต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า พรรคไทยรักไทย ได้ดำเนินการสั่งให้ทนาย คือ นายธนา เบญจาธิกุล ไปที่ศาลอาญาและศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ดำเนินการถอนฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกทั้งหมด และทางนายสนธิเองก็มิได้ฟ้องกลับแต่อย่างใด การวิพากษ์วิจารณ์เกือบจะเป็นปัญหาบานปลายเมื่อ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2549 ได้มีการประท้วงคัดค้านจนไปสู่การบุกทำเนียบรัฐบาล
ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2549 นายสนธิได้เดินทางไปเมืองกุ้ยหลิน ประเทศจีน โดยกล่าวว่าจะไปพักผ่อน และจะกลับในวันรุ่งขึ้น แต่เมื่อถึงวันต่อมา นายสนธิมิได้กลับมา จึงเป็นโอกาสให้สมาชิกพรรคไทยรักไทยโจมตีนายสนธิว่าหนีออกนอกประเทศ แต่ได้กลับมาในวันที่ 2 เมษายน โดยบอกว่าหาเครื่องบินกลับไม่ได้ จึงได้เดินทางไปขึ้นเครื่องต่อที่ฮ่องกง จึงมีเที่ยวบินกลับเมืองไทย
[แก้] ผลงาน
[แก้] ผลงานหนังสือ
[แก้] ผลงานวีซีดี
- ตะวันออกไม่แพ้
- แพ้แล้วอย่างไร ชนะแล้วอย่างไร
- ยุบสภา! ทักษิณทรยศประชาชน
- เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรเฉพาะกิจ ภารกิจกู้ชาติ
- ปิดบัญชีทักษิณ
- เล่าเรื่องเลี้ยงลูก
[แก้] อ้างอิง
- ^ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง คำพิพากษาให้ล้มละลาย
- ^ ข่าวทำนายเงินดอลล่าร์จะตกต่ำในปี 2553 จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
- ^ The Sondhi Limthongkul Center for Interdependence (ศูนย์สนธิลิ้มทองกุลเพื่อการพึ่งพาอาศัยกัน)
- ^ http://hilight.kapook.com/view/9157/1 ศาลจำคุก สนธิ 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่น ภูมิธรรม
- ^ ดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลกปีพ.ศ. 2547 ที่จัดอันดับโดย รีพอร์ตเตอรส์วิทเอาต์บอร์เดอรส์ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 59
- ^ ดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลกปีพ.ศ. 2548 ที่จัดอันดับโดย รีพอร์ตเตอรส์วิทเอาต์บอร์เดอรส์ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 107
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น