ประวัติของผม ตอนที่ 7
ประวัติของผม พระพยับ ปญฺญาธโร
พระผู้มีปกติอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓
ตอน 7
.jpg)
ชื่อและสถานะของผมเมื่อบวชแล้ว ตาม หนังสือสุทธิ ที่ 1/2526 ออกโดย พระครูวรกิจโสภณ พระอุปัชฌาย์ ณ วัดบ้านถ้ำ ตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี คือ พระ ร.อ.พยับ ฉายา ปญฺญาธโร พระเทพวรมุนี(เสน ปญฺญาวชิโร) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ให้พระทั้งหลายเรียก ผมว่า พระ ร.อ.พยับ ปญฺญาธโร เพื่อนเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศรู้จักผมที่บอร์ดป้ายประกาศรายนามผู้ เข้าประชุม “การประชุมพระจริยานิเทศ ร่วมกับพระเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ” ณ วัดโยธานิมิต อำเภอเมือง จังหวัดตราด ระหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2532 ว่า พระ ร.อ.พยับ ปญฺญาธโร
กรมการศาสนา ให้เรียกผมว่า พระพยับ ปญฺญาธโร (ท่านว่าบวชแล้วก็สละยศ ศักดิ์อำนาจวาสนาเสีย แต่ยศพระ : สมณศักดิ์พระตั้ง 11 ชั้นยศ กรมการศาสนาคิดไปไม่ถึงว่า แท้จริงก็เป็นเรื่องโลก ๆ ที่ไม่ควรจะมีจะใช้กับพระอื่น ๆเช่นเดียวกัน)
ผมเองเรียกและให้สมญา(เอกลักษณ์เฉพาะตัว) ผมเอง โดยใช้เรียกในประวัติตัวเองนี้เป็นครั้งแรกว่า “พระพยับ ปญฺญาธโร พระผู้มีปกติอยู่ด้วยอิริยาบถ 3” โดยมี ปรารถนาดีต่อท่านผู้อ่านและผู้อื่นใด เพื่อให้เป็นที่สะดุด สำหรับผู้ที่ควรจะสะดุด แล้วจัก เป็นประโยชน์เฉพาะตัวท่านผู้นั้นต่อไป
ผมเคยเล่าเกี่ยวกับสมญานี้ให้เพื่อนสหธรรมิก โดยเฉพาะเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดภาคอีสาน ได้ทราบบ้างแล้วถึงที่มาที่ไปของสมญานี้ ในหนังสือ “ส.ค.ส.จากหลวงพี่ 2536/๒๕๓๖” และในเร็ว ๆ นี้ ผมก็ได้เล่าคลายข้อ สงสัยท่านผู้อ่านไว้ใน “วิเคราะห์ข่าวในวงการเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดภาคอีสาน” ฉบับเดือนสิงหาคม 2540 ดังจะขอยกมาใส่ไว้ในประวัติช่วงตอนนี้ของผมอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
ถาม ให้อธิบายอิริยาบถ ๓ หรือมากกว่า ๓*
ตอบ ใน สติปัฏฐานสูตร อิริยาปถบรรพ บอกอิริยาบถ ๔ คือ (๑) เดิน (๒) ยืน (๓) นั่ง และ(๔) นอน อิริยาบถ ๓ ก็คือ เดิน ยืน และนั่ง ตัดอิริยาบถ ๔ (นอน)ออก “พระผู้มีปกติอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓” ก็หมายถึงพระที่มีชีวิตไปตามปกติอยู่เพียงสามอิริยาบถ เว้นอิริยาบถนอนตลอด ๒๔ ชั่วโมง ใน ๑ วัน พระบางองค์เช่น ท่านปญฺญาธโรภิกฺขุ(ก็คือผมเอง) อยู่มาเป็นเวลา ตลอดทั้ง ๑๗ ปี เข้าแล้ว โดยไม่มีการนอนลงไปหลังแตะพื้น กลางคืนก็เข้าที่นั่งหลับตาไปตลอดคืนจนรุ่งแจ้งแสงทอง หรือนั่งไปเรื่อย ๆ ได้ตามใจปรารถนา (เว้นเวลาป่วยหรือเวลาเข้าสังคมพระ) ในธุดงค์ ๑๓ การเว้น อิริยาบถนอน ถือว่าเป็นธุดงค์ข้อที่ ๑๓ เรียกว่า เนสัชชิกังค แต่คงอยู่ได้ไม่เกิน ๓ วัน หากฝืนไปจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ท่านที่อยู่เป็นปกติ(คือเป็นธรรมดา ๆ ไม่ฝืน ไม่ทน ไม่ทุกข์) ด้วยอิริยาบถ ๓ ท่านทำได้อย่างไร คงจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมปฏิบัติ ชั้นสูงอย่างแน่นอน ท่านคงจะอธิบายให้ฟังในวันหนึ่ง(หากไม่คิดว่าเป็นการโอ้อวด) ฯ
* จาก วิเคราะห์ข่าวในวงการเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดภาคอีสาน เดือน สิงหาคม พ.ศ.2540 หน้า 9
ปญฺญาธโรภิกขุ ผู้บันทึก
ตอนที่ 7 จากดีเล่มที่ 11
(1).jpg)
« Back
หนังสือพิมพ์ดีเล่มที่ 11