ประวัติของผม พระพยับ ปญฺญาธโร
พระผู้มีปกติอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓
ตอน 5
.jpg)
ในปีพ.ศ. ๒๕๓๘ ผมได้จัดทำหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง ชื่อว่า บทกวีแห่งชีวิต เบื้องต้นแห่งกวีนิพนธ์ สำหรับเป็นหนังสือที่ระลึกแด่ลูกศิษย์ ผมเป็นผู้จัดการโรงเรียนฯ (นร.ร.ร.มหาพุทธารามวิทยา และร.ร. มหาพุทธาราม) ในหนังสือเล่มนี้ ผมได้เขียนคำนำแนะนำตัวผมเองไว้พอให้ทราบเรื่องราวส่วนที่เกี่ยวข้องกับกวีนิพนธ์เล็กน้อย ขอนำมาเล่า ในหนังสือพิมพ์ดี ฉบับนี้ อย่างเป็นประวัติตอนหนึ่งในชุด ประวัติของผมฯ ดังต่อไปนี้ :-
ปรารภพยับรวิวรรณ ผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้
เบื้องต้นแห่งกวีนิพนธ์
เบื้องต้นแห่งกวีนิพนธ์ โดย พยับรวิวรรณ ๆ คือ พระภิกษุ พระพยับ ปญฺญาธโร (ปญฺญาธโรภิกฺขุ) วัดมหาพุทธาราม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้มีประวัติหลาย ด้านที่น่าพิศวง
เดิมเป็นนายทหาร ชื่อและยศก่อนบวชคือ ร้อยเอกพยับ เติมใจ สำนักงาน สารนิเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด อาคาร ๖๐๔ บริเวณสนามเสือป่า กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิด้า ในระดับปริญญาตรี และโท(ประกาศนียบัตรชั้นสูงรัฐประศาสนศาสตร์) ตามลำดับ
ในด้านการกวีนิพนธ์ เป็นผู้ที่เคยมีความรังเกียจขยะแขยงการกวีนิพนธ์ไทยมาก่อนจนถึงกับตั้งปณิธานเอาไว้ว่า ถ้าหากความเป็นกวีจักเป็นได้แบบครูกวีไทยทั้งหลายเป็นกันมาแล้ว ไม่ขอเป็น กวีจะดีกว่า (ไม่ชอบแบบอย่างความประพฤติของครูกวีไทย เช่นศรีปราชญ์ มองว่าเป็นคนกะล่อน ไม่รู้กาละเทศะ ปากเปราะเราะราน ไม่มีศีลธรรม สุนทรภู่ มีแต่จินตนาการกาม ไร้ความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้หนึ่ง เสเพล สำมะเลเทเมา กวีขี้เหล้า ได้อำนาจผลักดันการกวีนิพนธ์จากกิเลส คือเหล้า ฯลฯ) ฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่ห่างเหินไร้การเหลียวแลเอาใจใส่การกวีนิพนธ์อยู่ระยะหนึ่งเป็นเวลานานกว่าสิบหกปีทีเดียว และนั่นก็หมายความว่า มือมิได้เคยขยับฝึกหัดการเขียนบทกวีนิพนธ์มาก่อนเลย ในช่วงเวลาสิบหกปีนั้น
แต่เมื่อมาถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๕ มีความระเคืองใจใฝ่เขียนบทกวีนิพนธ์ บทกวีที่ ตนคิดว่าจะเขียนด้วย อานุภาพแห่งความสว่างใจ ก็ได้ลองเขียนบทกวีนิพนธ์ดู เริ่มบท แรกว่าดังนี้
กวีศิลปสยามเหือดแห้ง รเห็จหาว สิ้นฤา
ศรีสง่านครคราว เฟื่องฟุ้ง
แสงธรรมหากเคยพราว พราวเลื่อม มลืองเฮย
พลอยอับรังษีรุ้ง เหตุแล้งลมกวี ฯ
ศรีนครควรเกิดแก้ว กวีรัตน์ เคียงนา
ธรรมคู่ปราชญ์ตราตรัส จึ่งแผ้ว
สยามเลื่องเมืองกษัตริย์ สูงค่า พ้นนา
ยังปราชญ์กวีวรรณแก้ว ส่องไล้ใครแสวง ฯ
รู้สึกว่าเขียนไปได้เองอย่างประหลาด ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ นั้น ได้มี พระราชพิธีเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมาร์ค สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ ๒๐๐ ปี จึงร้อยกรองเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนเรือเสด็จฯ เรื่องราวบ้านเมือง และเหตุการณ์ สำคัญ ๆ เช่นการเมืองลาวและกัมพูชาในขณะนั้น สำเร็จรูปออกมาเป็นบทกวี ๒๐๐ บท คือ “เถลิงรัฐรัตนโกสินทร์ศก ๒๐๐ พุทธศักราช ๒๕๒๕” หรือ “๒๐๐ บทกวี ๒๐๐ ปีรัตนโกสินทร์” บทต้นๆ ได้ส่งไปออกอากาศในรายการ มรดกกวี ของวิทยุ ยานเกราะ ๗๙๒ โดย อิทธิเทพ รอดพึ่งผา เลขาธิการสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ขณะนั้น ต่อมาได้นำพิมพ์เป็นเล่มในหนังสือธรรมของอนาคาริกทั้งสามคือ สากลจักรวาล สากลศาสนา กับกวีนิพนธ์เถลิงรัฐรัตนโกสินทร์ศก ๒๐๐ พุทธศักราช ๒๕๒๕” ในบทที่ ๑๙๙ ได้บอกความมุ่งหมายในการเขียนบทกวีเรื่องนี้เอาไว้ว่า
๑๙๙ เป็นขวัญเมืองมิ่งไว้ กวีวรรณ
เป็นลุ่มธารมโนสวรรค์ สว่างสร้อย
เพชรรัตน์ประภัสรพรร- โณภาส
เชิดมกุฎกษัตริย์ช้อย ฉ่ำเรื้องมกุฎธรรม ฯ
นั่นคือ เพื่อเชิดชู มกุฎกษัตริย์ และทั้ง มกุฎธรรม ในเวลานั้น แต่มกุฎธรรมนั้นมีความหมายอย่างไร ? ก็คือ เรื่องราวของชัยชนะในสงคราม ดังนัยแฝงอยู่ในกวีนิพนธ์บทที่ ๑๑๙-๑๒๐ โปรดสังเกตดังนี้
๑๑๙ บรมขัตติเยศรได้ ไอศูรย์
เถลิงรัฐฉัตรทองพูน เดชด้าว
จอมทัพทศทิศทูน ศิโรราบ
ห่อนสั่งมัจจุราชห้าว ผ่อนไว้โทสา ฯ
๑๒๐ ธรรมสามีเร่งล้าง ไตรภพ
สวรรค์ล่มนรกลบ แผ่นหล้า
โลกันต์ผ่านทัพทบ ทิวเศิก คลุ้งเฮย
ดับเดชมัจจุราชกล้า แต่ด้วยตาญาณ ฯ
นั่นคือเรื่องราวของ สงคราม : ธรรมา-ธรรมะสงคราม ซึ่งมีความหมายที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมอยู่ในโศลกธรรมบทสำคัญบทหนึ่งชื่อว่า “สงครามสวรรค์ครั้งล่าสุด” ที่ เปิดเผยไว้ในหนังสือลับเฉพาะ ที่แจกจ่ายเฉพาะบุคคลคือ ข่าวอนาคาริกที่๒/๒๕๒๕ธรรมสามีวิจารณ์ : วิมุตติรัตนมาลี สวามิภูตินิทาน : สงครามสวรรค์ครั้งล่าสุด ของท่านผู้ประพันธ์นี้
ในตอนต้น ๆ ของ ๒๐๐ บทกวี ๒๐๐ ปีรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องชมเมือง ชมขบวน เรือ มีบทได้ครบฉันทลักษณ์ หรือแม่แบบเอกเจ็ด โทสี่ โดยธรรมชาติด้วยบทหนึ่ง คือ บทที่ ๑๔ ดังนี้
๑๔ ชมดนตรีกล่อมเกลี้ยง เกลาสาร
ยอย่อมยศสมภาร ก่อเกื้อ
นาบุญท่านบูรณ์บาน เบียนบ่วง มารนา
ควรแก่โสตสดับเอื้อ อิ่มโอ้เพียงโหย ฯ
บทไหว้ครูแบบกวีเดิมไม่มี แต่มีบทสรรเสริญนรชน สรรเสริญราชาธิราช และ สรรเสริญพุทธคุณแทนในหกบทเริ่มต้น โปรดดูตัวอย่างบทที่ ๔-๕-๖ ดังนี้
๔ นรชนวายชีพใช้ คุณมา ตุภูมิเฮย
เพียงปิ่นปักนครา เพริศแพร้ว
เสริมศรีศักดิ์สมญา เมืองมิ่ง เมลืองเฮย
คนนอบหนึ่งโพธิ์แก้ว เพื่อนคุ้นครวญหา ฯ
๕. ธรรมาธิราชเลี้ยง ทวยดิน
แผ่นอุดมสมถวิล แหล่งหล้า
ปวงชนเทอดภูมินทร์ มหาราช เรื้องแฮ
รวมจิตวิญญาณกล้า ฝ่าค้าสังสาร ฯ
๖. บุญบานบรมพุทธท้าว ธรรมมา
โปรดส่ำสัตว์เทวา ชื่นแผ้ว
โพธิราชเลื่องบุญญา นามหน่อ ไท้เฮย
ไตรภพลบโลกแล้ว นอบนิ้วพุทธคุณ ฯ
บทชมเรือ บทที่ ๒๔-๒๖ ชมขบวนเรือ บทที่ ๒๗ ชมเรือสุพรรณหงส์ อันเป็น เรือพระที่นั่ง
๒๔ ดั้งสิบเอ็ดคู่รั้ง ฝั่งสอง ชลนา
ทองคู่นำพาผยอง เผ่นผ้าย
สองเสือทะยานยอง ยงยิ่ง ยงนา
วายุภักษ์ปักษีสล้าย เลื่อนล้ำนำทาง ฯ
๒๕. ปางอวตารปราบเปลื้อง พนาสูร แลฤา
ขุนกระบี่เห็จเหินยูร ยาตรเต้า
สองครุธขนาบนาคปูน ลอยเมฆ ลงฤา
สองเอกชัยกล้าเข้า คู่ช้าพญาหงส์ ฯ
๒๖. ธงชัยอนันตนาคเจ้า เจ็ดเศียร
สวามิภักดิ์โพธิเทียร ปิ่นฟ้า
ทรงพระปฏิมาเสถียร สถิตคู่ เศิกแฮ
พระพุทธชัยคู่หล้า เคลื่อนล้ำลำราม ฯ
๒๗ งามจริงยิ่งพิศแพร้ว สุพรรณหงส์ งามเฮย
เพียงเลื่อนลอยโพยมลง สว่างหล้า
เหมราชราชใดทรง หงส์หก เหินนอ
โผทะยานชลช้า ชื่นช้อยตาชน ฯ
บทชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บทที่ ๗๓
๗๓ โกมินทร์วาวแว่นฟ้า ฟืนสวรรค์ แลฤา
อ้า ใช่ปรางค์หอธรรม์ พร่างแพร้ว
สามยอดรัตนสุบรรณ เวียงเทพ อมรฤาอ้า
ใช่สามยอดแก้ว พ่างพื้นภูวดิน ฯ
ชมประเทศสยาม บทที่ ๘๖-๘๗-๘๘
๘๖ ชมสยามงามหยาดฟ้า ผลาญดิน
แลฤาเพียงหนึ่งเหนือธรณินทร์ ต่ำใต้
เกษมสุขทุกไทยริน รมเยศร
ต่างชาติชมข่าวไข้ ใคร่เมื้อมาเห็น ฯ
๘๗. ดั่งเดือนเพ็ญเด่นด้าว โพยมหน
เพียงหนึ่งเหนือพิภพบน ลุ่มหล้า
ดาวพรายเพริศเพียงฝน ทิพย์เทพ รินฤา
เมืองอื่นเองอายหน้า ชื่นชม้ายเมียงชม ฯ
๘๘. สมบัวบานชื่นช้อย ชลใส
เพียงหนึ่งเสวยบึงใบ โอบอ้อม
ภู่ภุมรินใด ตอมต่าย ไซ้นา
เสน่ห์สยามโลกค้อม ราบแพ้เฟือนฝัน ฯ
สยามงามยิ่งกว่านี้ไปอีกในบทที่ ๑๙๑-๑๙๒-๑๙๓-๑๙๔
๑๙๑. ชมสยามงามเงื่อนฟ้า คืนเพ็ญ จันทร์นา
โฉมผ่องล่องบนเห็น เด่นด้าว
ครามคราบนภาเย็น แลลิ่ว ลึกเฮย
รองลุ่มจันทราจ้าว หว่างเวิ้งเวหน ฯ
๑๙๒. นรชนกำเนิดด้าว แดนสยาม
คือทิฆัมพรคราม โอบอ้อม
ครอบเดือนดุจดาวราม พรายเพริศ ฟ้าเฮย
รายรัศมีทิพย์ล้อม โลกห้าวหฤหรรษ์ ฯ
๑๙๓. เป็นขวัญตาแต่ผู้ ยลเยือน
ชมชื่นเพียงชมเดือน เยี่ยมหน้า
อาลัยดุจดาวเลือน ลับรุ่ง อรุณเฮย
อยู่ใคร่หยุดชีพช้า เผื่อไว้วันชม ฯ
๑๙๔. สมดาวพราวเพริศห้อง เวหน
คือเสน่ห์สยามยล ยั่วแย้ม
ปีกทิพย์เทพกวักกล ขานเพรียก มาฤา
คือเสน่ห์สยามแต้ม อกไห้โหยหา ฯ
เรื่องการเมืองในลาวเขมร ช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๑๘ ในบทที่ ๑๒๒-๑๒๓ และบทที่ ๑๓๑
๑๒๒. โขงวนลงลุ่มใต้ ลาวครวญ
กัมพุชวิปโยคหวล อกอื้น
สองฝั่งฟากลาวญวน โลมเลือด ลงฤา
โขงแม่ซับชลชื้น ชุ่มคลุ้งคาวคน ฯ
๑๒๓. ทรชนสองเหล่าร้า รอนรบ
สองพิฆาตคาวกลบ หย่อมหญ้า
โขงแรงชะเลือดลบ สองแผ่น ภูเฮย
ทุกข์โทษเทวษกล้า ร่ำพื้นระงมดิน ฯ
๑๓๑. โขงวนสองแผ่นเฝ้า อาดูร
ลาวหลั่งเลือดนองปูน น่านน้ำ
สู่กัมพุชโขงพูน ทวีวิโยค
ตายดาดศพเกยค้ำ แผ่นเพี้ยงภูเขา ฯ
ชมสวนโมกข์บทที่ ๑๗๖ ชมวัดจอมเวียง-จอมกลางและแม่น้ำสาลวินบทที่ ๑๗๙
๑๗๖. เย็นสวนโมกข์มิ่งใต้ ไชยา
ยศเฮยสว่างจิตจงปริศนา ท่านแจ้ง
พุทธธรรมทาสพูนบา บุญยิ่ง พูนเฮย
ชูชีพพระศาสน์แล้ง ฉ่ำเลี้ยงรังใจ ฯ
๑๗๙ จอมบดินทร์รังสฤษสร้าง จอมเวียง
อภิเษกจอมกลางเคียง คู่ด้าว
งามลุ่มแม่เมยเมียง เมืองม่าน เล่านา
สาละวินเวียงท้าว พะม่าเมื้อมาชุม ฯ
ลงท้ายด้วยพุทธานุสสติ บทที่ ๑๙๗-๑๙๘
๑๙๗. พุทธองค์ปลงโลกไว้ หัตถา
วัฎฎจักรกงกรรมคลา หว่างเงื้อม
ญาณทิพย์ทิพย์อาภา พระแผ่ ผายเฮย
ข่ายครอบพระธรรมเอื้อม โอบไล้โลมแสง ฯ
๑๙๘. ศัพทแสดงสิสดับด้วย คมปราชญ์ เทอญรา
ญาณหยั่งธรรมพระโลกนารถ ตรัสแจ้ง
สงฆ์วิสุทธิ์สุดองอาจ โปรยโปรด โลกเฮย
ศีลสงัดฤาแล้ง โลกไร้อรหันต์ ฯ
จะเห็นว่าบทกวีที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่าง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้มีท่านผู้เชี่ยวชาญทางภาษาท่านหนึ่งได้อ่านบทกวีเรื่องนี้ และท่านได้ยกย่องไว้ในระดับสูงส่งเลยทีเดียว (ดู สารแม่ศรี ปีที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖) ท่านว่าผมอยู่ในระดับกวีแห่งสยาม เลยทีเดียว
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ผู้ประพันธ์บทกวีเรื่องนี้ ได้ลาออกจากราชการ บวช เป็น พระภิกษุ คือ พระพยับ ปญฺญาธโร หรือ ปญฺญาธโรภิกฺขุ มาตราบเท่าทุกวันนี้ และ เวลานี้ ผลงานการกวีนิพนธ์ของ พยับรวิวรรณ ได้ปรากฎอยู่ทั่วไปหลากหลายสำนวนขึ้น เช่นใน บทกวีแห่งความสว่างใจ พ.ศ. ๒๕๓๔, ส.ค.ส. ๒๕๓๖ (ซึ่งรวมบทกวี หลายแบบ แม้กระทั่งกวีที่เขียนเป็น โศลกอีสาน อันเป็นภาษาท้องถิ่น โดยเรียบเรียงเอา จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะขึ้นไปจำศีลหยุดข้าวหยุดน้ำ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน บนเพดานอุโบสถใหม่วัดโนนน้อย เพื่อขอฝน และได้ร่ายกลอนสดอันเป็นกาพย์ขับกล่อมเรียกว่า กาพย์กล่อมพญาแถน หรือกาพย์ขอฝน เป็นผลให้ฝนตกหนักท่ามสายลม สายฟ้าคะนองลั่นสนั่นไปทั้งคืนไม่หยุดหย่อน จนน้ำท่วมขาวโพลนไปทั่วทุกสารทิศ กลับผืนแผ่นดินแห้งแล้งเป็นทรายในคืนวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ นั้น ให้กลายเป็นผืนน้ำหลายหลากไปทั่วท้องทุ่งอย่างน่าพิศวงอัศจรรย์ใจยิ่ง ภายหลังได้เรียบเรียงคำขับกล่อมในคืนนั้น เป็นลายลักษณ์อักษรและลงพิมพ์ไว้ในเล่ม ส.ค.ส. ๒๕๓๖ นี้) และอีกเล่มหนึ่งก็คือ บทกวีแห่งชีวิต : หนังสือแห่งความสุข พ.ศ. ๒๕๓๗ นอกจากนี้ บทกวีของ พยับรวิวรรณ ก็มีแทรกอยู่ทั่วไปในหนังสือตามแผนงานสารความสุขเพื่อทุกชีวิต และ แผนงานแผ้วสังคมด้วยธรรมะ
[การหยุดข้าวและหยุดน้ำบนเพดานอุโบสถ ตลอดเวลา ๗ วัน ๗ คืน น่าจะเป็นสิ่งที่เหลือวิสัยสำหรับปุถุชนคนธรรมดา เพราะหลักฐานการแพทย์ระบุไว้ว่าคนธรรมดาจะอดน้ำได้ในเวลาไม่เกิน ๓ วัน แต่ปัญญาธโรภิกขุเชื่อมั่นว่าจะสามารถหยุดไปได้นานกว่านั้นอีกอย่างสบาย ๆ แต่ในเชิงกวีนิพนธ์ของ คนที่ไม่เคยฝึกหัดเขียนมาก่อน ขอให้ดูตัวอย่างกาพย์ที่กล่อมพญาแถนในคืนวันนั้น คืนที่ฟ้าฝนคึกคะนองและเทน้ำฟ้าลงมาจนท่วมท้องทุ่งไปหมด บทนี้สำหรับขับกล่อมอย่างมี ท่วงทำนองของวรรณกรรมอีสาน
มาเยอ มาเยอ
เทวบุตรท้าว เทวามาผายโผด
เมฆินทร์ให้หลั่งล้นฟ้า พญาท้าวให้หลั่งลง
ให้มหาสินธุก้วง ตวงเต็มบึงใหญ่ ถ้วนเทอญ
หนองน้ำน้อย พลอยได้อยู่กระแส
ดินสิคืนมาสร้าง เมืองทองละอองอุ่น อีกเด
ประชาราษฎร์กว่าก้วง สิคืนบ้านบ่อนสบาย ท่านเด
อันว่าเทียนประทีปจ้า บารมีใสส่อง แถนเอย
เฮาหากจุดไว้นี้ ให้มีน้ำหลั่งลง เดอแถนเดอ
หากว่าเทียนแสงจ้า พญาเอยอย่าหยุดหลั่ง ฝนเดอ
เทียนบ่ดับอย่าได้ นำน้ำให้ห่างไกล แด่ถ้อน ฯ ]
บทกวีของพยับรวิวรรณจึงหมายถึง บทกวีที่เขียนโดย พยับรวิวรรณ ผู้บรรลุความเป็นกวีนิพนธ์ขึ้นมาเอง โดยมิได้มีการฝึกฝนการเขียนบทกวีมา ก่อน ซึ่งเป็นเสมือนการบ่งบอกว่า การกวีสามารถบรรลุได้ เกิดขึ้นได้เอง ด้วยผลแห่งญาณและปัญญา หรือฌานอันลุ่มลึก พร้อมจินตนาการอันกว้าง ใหญ่ คือระบบมันสมองอันตรองตรึกดังจักร ที่มีห้องกวีนิพนธ์อยู่โดยเฉพาะ อีกห้องหนึ่งในบรรดาห้องทั้งหลาย ได้บังเกิดเป็นขึ้นแล้ว
และหนังสือเล่มนี้คือ เบื้องต้นแห่งกวีนิพนธ์ ได้ทำขึ้นโดยบุคคลเดียวกันนี้ โดย ประสงค์ให้เป็น วิชาการเบื้องต้นแห่งกวีนิพนธ์ ที่แท้จริง คือ กวีที่สะท้อนธรรมะอันขาว ผ่องภายใน การกวีที่หมายถึงธรรมะ มิใช่การกวีที่สะท้อนกิเลส อันน่าขยะแขยง อัน เป็นของฝากสำหรับลูกศิษย์ ผู้เดินทางไกลทุกคน ฯ
สวัสดี.
พยับรวิวรรณ
๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ ”
ตอน 6 จากดีเล่มที่ 5
