ศึกษา
โลกลี้ลับ
ภาค 3
โลกลี้ลับ (3)
ภาค 3
ติดตามพระวิปัสสนาจารย์ พระธุดงค์ และพระกัมมัฏฐานยุคใหม่
ภาค 3 การฝึกอบรม
รายงานช่วงฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์
ณ ศูนย์คณะสงฆ์ภาค 10
บ้านสร้างมิ่ง หมู่ 13 ต.หนองเมือง อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
เป็นเวลา 20 วัน ระหว่าง 2 21 พ.ค. 2549
ศูนย์การคณะสงฆ์ภาค 10 วันที่ 1
แววแห่งความสิ้นหวัง
2 พ.ค. 2549
04.00 น.
สุสานฮ่วยเซย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ที่ปักกลดพักแรมมา2คืนแล้ว
04.00 น. ตื่น ลุกขึ้น
ไปธุระ ล้างหน้า แล้วเก็บข้าวของ เตรียมออกเดินทาง
0430 น. ออกจากศาลาพักศพ ไปสถานีขนส่ง
สถานีขนส่งอยู่บริเวณนั้น เดินไปสักครู่โยมมา ให้ขึ้นจักรยานยนต์ของเขา ว่าจะไปส่งที่สถานี
ถึงแล้ว อนุโมทนาสาธุในกุศลเจตนาของเขา
05.10 น.
รถออก บนรถพบพระ 1 รูปได้คุยกัน
เป็นพระธุดงค์ พูดกันเรื่องทางมรรคผลนิพพาน ชั้นสูงหน่อย มีประเด็นที่คล้ายว่าขัดแย้งกัน โยมข้าง ๆ ฟังด้วยความสนใจ พอถึงอ.ม่วงสามสิบ พระรูปนั้นก็ลง
06.00 น.
ถึงศูนย์การคณะสงฆ์ภาค 10
พอลงจากรถ พบพระรูปหนึ่งคอยรถอยู่ฝั่งตรงข้าม ยิ้มให้ ทำท่าทางต้อนรับและชี้ให้เข้าประตูไปข้างในนั่น มาถูกต้องแล้ว
เราเข้าไป แต่แวะออกข้างทางมานั่งพักที่ขอนไม้ ตั้งใจว่าจะนั่งพักสักครู่หนึ่งก่อน สภาพดูเงียบเชียบ ไม่เห็นใครมา บางทีเราอาจจะเป็นคนแรกที่มาในเช้าวันนี้ก็ได้
ขณะนั้นเห็นฟากฟ้ามีแสงอาทิตย์อุทัยฉายเรือง ๆ แต่ดูแล้วทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นทิศตะวันตก ให้รู้สึกมึนงง สะบัดศีรษะ ดูใหม่ ก็เห็นตะวันขึ้นทางทิศตะวันตกอยู่อย่างนั้น
07.00 น.
ณ ฝั่งสระ หรือ บึงใหญ่ของ บ้านสร้างมิ่ง
- มองดูนกบินบนฟ้าไกลฉวัดเฉวียนอยู่บริเวณนั้น
- สักครู่ ฟ้าสว่างไสว
- ปราณกลับมาแล้ว???
07.00 10.30 น.
พักผ่อน สบายขึ้น!
11.00 น.
ฉันเพล
- ข้าวเหนียว
- ส้มตำ
- ไก่ย่าง
- ขนม
พักพิจารณาปราณ
ปราณกลับมาแล้ว?????
15.00 น.
ในห้องปฐมนิเทศ
- สามารถเดินปราณได้แล้ว
- น่าถึงระดับ 50 %
- ต้องตรวจสอบต่อไปอย่างใกล้ชิด
วันนี้เริ่มการอบรมต่อไปเลย วันแรกนี้สอนเดินจงกรมระยะที่ 1 ทันที
ระเบียบคือ จบ 23 น. ตื่น 3.00 น. มีเวลานอนพักผ่อนเพียง 4 ชั่วโมง
เหนื่อยมาก
ไม่มีใครตั้งใจเรียนเลย เพราะทุกรูปเหนื่อย เราก็เหนื่อยมาก เราไม่สบายเสียแล้ว นอนตลอดที่ชั้นสอง เพื่อฟื้นแรงไว้ ชะลอให้ปราณกลับมา
เนื่องจากเลิกดึกและต้องตื่นแต่เช้าตรู่ คือตี 3 เริ่มการฝึก
เวลาพักผ่อนหลับนอนอยู่ระหว่าง 23.00 นาฬิกา ถึง 03.00 น.
เราคิดว่า เวลาพัก 4 ชม.น้อยไป สำหรับสภาพเราเองขณะนี้ เนื่องจากเพลีย อ่อนแรงมาก เหมือนคนป่วย เอาแต่อยากนอน และเราก็อนุญาตตนเองให้นอนเพื่อจะได้เอาแรงไว้ต่อสู้
คำสอนขณะปฐมนิเทศ มีหลักการ 3 อย่างคือ
- รูป
- นาม หรือ จิตใจ
- เดินจงกรมระยะที่ 1
ขวา....ย่าง.... หนอ, ซ้าย....ย่าง.....หนอ ฯลฯ
พระอาจารย์ขอให้ทุกรูปลงมาปักกลดกันชั้นล่าง บริเวณป่ารอบ ๆ อาคาร หรือในห้องโถงใหญ่ที่ฝึกอบรม
เราเห็นด้วย รีบหอบข้าวของลงมา เลือกเอาใกล้ ๆ ประตู กะว่าเพื่อการประหยัดเวลาให้มากที่สุด ไปห้องน้ำง่าย ล้างบาตรง่าย ใกล้ห้องเรียน ไปมาเร็ว ฯลฯ จะได้เพิ่มเวลาพักผ่อนไปอีกหน่อย
แล้วลงมาเราก็พยายามพักผ่อน โดยนอนราบกับพื้น เราตั้งใจทำดั่งนั้นเอง เพื่อว่ารักษาพลัง เกรงว่าการหักโหมจะเป็นผลเสียหายแก่พลัง ที่กำลังก่อตัวขึ้นมา เราจึงอยู่ในสภาพคนป่วยก็ว่าได้ เพราะพอได้เวลาพักก็นอนทันที หลับตา บริหารปราณ
ในสายตาครู อาจารย์ คนอื่น คงเห็นว่าเราเป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้ ไม่เอาไหน หรือมองว่าสุขภาพไม่ดี เป็นพระชราภาพแล้ว ฯลฯ แต่เรามีเจตนารมณ์ของเราเอง ที่พยายามให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ สงวนพลังไว้ สะสมไว้ให้พอ เพราะคำนวณแล้ว ฝึกหนัก มีเวลาพักเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน วันแรกนี้เพลียมากแล้วยังต้องเตรียมลุกขึ้นเวลา 03.00 น.อีก สภาพการณ์เช่นนี้อาจจะทำลายกระแสปราณที่กำลังก่อตัวขึ้นได้โดยง่าย
จึงต้องระวังเรื่องการให้เวลาแด่การก่อตัวของปราณ เพราะเราต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ได้ปราณกลับมา
3 พ.ค. 2549
วันที่ 2
- ยังปะติดปะต่อไม่ถูก อะไรเป็นอะไร?
- สภาพปราณยังไม่คล่อง ติดขัดเป็นระยะ ๆ บางครั้งหายไป เหมือนถูกตัดไฟ หายไปเฉย ๆ
- น่ากลัวสิ้นหวัง
- ยังค้นไม่พบสาเหต
- คิดว่าเป็นเพราะร่างกายป่วย ก็ดูจะมิใช่ เพราะริดสีดวงทวารก็หายสนิทแล้ว การขับถ่ายเป็นปกติดี
ขณะนี้เรายังมีสภาพไม่ดีเลย อ่อนแอมาก ต้องพยายามพักผ่อนให้มาก วันนี้ถึงล้มตัวลงนอน และวันก่อน ๆ ก็นอน แม้จะพยายามนั่ง แต่ก็เป็นการฝืน ไม่ได้ดั่งใจ
เราตั้งใจไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มบริหารแล้ว ให้เขาเป็นประธาน รองประธานกลุ่มของจังหวัดศรีสะเกษ เราต้องการว่างเปล่า ไร้กังวลทุกอย่าง เพื่ออุทิศให้การฝึกปราณ
คิดว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องอาศัยหลักสูตรการฝึกนี้ จะตั้งใจปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง โดยหวังว่าจะกระตุ้นและอุปการะแด่วิถีแห่งปราณ และกลับคืนมาได้
สติตื่นพร้อมพรั่งทั้งกาย
4 พ.ค. 2549
มาได้สติวันนี้ เวลาเช้าตรู่ ๆ ขณะพระคุณอาจารย์ พระราชโมลีพูดให้โอวาท ว่า มีสติทุก ๆ การกระทำของตน ตามรู้ให้ได้ทุกอิริยาบถ คือ สติตื่นพร้อมพรั่งทั้งกาย
เราก็ระลึกว่า นั่งหนอ ในขณะที่นั่งฟังอยู่
ทันใดก็เข้าใจในหลักการทั้งหมด
และทันใดก็เกิดสภาวะ สงบ หายเหนื่อย ไปในทันที
แล้วก็เชื่อมกันทันทีกับมูลฐานแห่งปราณ อันเป็นพื้นฐานเดิมอยู่ภายในของเรา
สัมผัสทันทีว่า ปราณกลับมา หายป่วยทันที
พอใจมาก ยินดีมาก ๆ เห็นแล้วว่า แนวการฝึก สติปัฏฐานนี้อุปการะแก่ปราณอย่างแน่นอน
จึงปฏิบัติไปตามหลักการนั้นอย่างละเอียดลออจริง ๆ ใช้สติสังเกตอย่างละเอียดลออ อย่างเอาจริง
พลังมาแล้ว เยี่ยม !!!
พอถึงการฝึก
เดินจงกรม 1 ชั่วโมง
นั่งสมาธิ 1 ชั่วโมง
ยุบหนอ .......... พองหนอ..........
พอเริ่มต้น ปราณก็แล่นทันที 3 ระดับ
1. ระดับปกติ สม่ำเสมอ สมบูรณ์
2. แล่นไปถึงระดับ 2 ภายในชั่ว 2-3 อึดใจต่อจากระดับที่ 1
3. ระดับที่ 3 ตั้งตัวตรง ตัวตั้งตรง กระแสปราณเย็น ตรง เข้มแข็ง ละเอียดอ่อน เข้าสู่ระบบธรรมชาติอย่างสมบูรณ์
ที่ระดับ 3 นี้ เราเคยสร้างเกณฑ์ หรือมาตรวัดของเราเองไว้ ณ จุดสูงสุดว่า
พองหนอ ยาว 4 วินาที
ยุบหนอ ยาว 4 วินาที
แต่ขณะนั้น ดูเหมือนว่า จะแล่นเลยไปถึง 5-6 วินาทีด้วยซ้ำ
และทันใดนั้น นิมิตก็ปรากฏ เป็นปฏิภาคนิมิต เป็นเรื่องเป็นราวอย่างกับชมภาพยนตร์
พอใจ ยินดีมาก เหมือนว่าระบบภายในทุกระบบกลับฟื้นคืนมาหมดพร้อมกัน
พอถึงเวลาพัก ก็รีบออกไปหาที่ฟึกฟื้น
เริ่มด้วยการยืนตั้งใจอ้าปากกินอากาศ ที่ประตูนั่นเอง ดุจว่าอาหารที่เอร็ดอร่อย
ในกริยายืนนิ่งสงบ และความสังเกตเฉียบคมแล่นสำรวจไปทั่วกาย เนิ่นนาน ถึง 20 นาทีเห็นจะได้
แล้วออกไปข้างนอก สำรวจที่ปักกลด บัดนี้เรามั่นใจว่าหายป่วย หายอ่อนเพลีย ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว
และได้พลังกลับมา
บัดนี้กลับความรู้สึกใหม่ว่า การจะนั่ง ๆ นอน ๆ เหมือนคนป่วยอย่างเดิมนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ
จะต้องออกไปอยู่ป่า และครั้นถึงเวลาพักภาคค่ำ ก็หอบกลดและข้าวของออกไปจากอาคารใหญ่ ไปอยู่ใต้ต้นไม้
และตั้งแต่คืนนี้ไป เราก็จะเจริญธุดงค์กัมมัฏฐาน ชักกลดขึ้นสู่ยอดไม้ เด่นพลิ้วเป็นสง่างาม อยู่โคนไม้เป็นวัตร อยู่ป่าเป็นวัตร พยายามตรวจสอบเพิ่มพูนปราณไปอย่างต่อเนื่อง
5 พ.ค. 2549
ฝึกเต็มระยะที่ 1
เริ่มต่อระยะที่ 2
ขณะนั่งรอเวลาฝึก นั่งหนอ พองหนอ ยุบหนอ ปราณเดินกล้า ก็ลุกขึ้นยืน จะเดินจงกรม ตั้งสติปฏิบัติไปตามขั้นตอน ลุกหนอ ยืนหนอ เอาสติกำหนดไว้ที่หัวใจ อยากเดินหนอ
แล้วก็บรรลุ สติปัฏฐาน รู้ทั่วพร้อม ขึ้นมาทันใด ในขณะยืนเตรียมเดินจงกรมระยะที่ 1 นั้นเอง และในท่ามกลางสายตาเพื่อน ๆ ทั้งหมดจ้องมองสังเกตมา
พอใจมาก นับว่า สำเร็จ ทันที
6 พ.ค. 2549
03.30 น.
เดินระยะที่ 2
- ยก....หนอ
- เหยียบ......หนอ
เรามั่นใจมากและรู้สึกว่าไปไกลลิบแล้ว คนอื่นคงตามทันยาก สาเหตุเพราะวางภาระในกิจกรรมทุกอย่างแล้ว ต้องการเอาวิชาแต่อย่างเดียว อย่างพลาดไม่ได้
เข้าใจความหมาย สติตื่นพร้อมพรั่งทั่วตัวตน ในเวลาปฏิบัติ และได้สามารถทำให้ สติตื่นพร้อมพรั่งทั่วตัวตน ได้แล้ว ด้วยการเดินระยะที่ 1 แล้ว
เหมือนว่าพอเดินระยะที่ 2 ดุจดังได้ผจญสงครามที่โตไปกว่าเดิมอีก และเราเป็นจอมยุทธผู้เชี่ยวชาญ มีอาวุธคือสติเต็มที่ การรบจึงละเอียดมาก ๆ มีสติตลอด พลาดไม่ได้เลยแม้แต่น้อย
น่าขอบคุณพระอาจารย์ที่สอนเหลือเกิน
การเดินมีถึงระยะที่ 6 นั่นคือ ยังจะมีการฝึกความเชี่ยวชาญอีกนานพอและเต็มที่
แต่ในเรื่องปราณ บัดนี้ก็ฟื้นคืนขึ้นมา แต่ยังไม่พร้อมที่จะทดลอง
รอ! รอ! ใจเย็น ๆ ไว้
ค่อยตรวจสอบ ดูการสะสม ดูเหตุผลของปราณให้ชัดแจ้งก่อน
เราคงต้องการอะไรที่มากไปกว่าที่นี่ เช่นความเงียบสงัด และความพร้อมทั้งกายและจิตใจ - กสิณ - ฌาน - ความว่าง
และในระดับสุดยอด จะต้องทดสอบทุกอย่างเหล่านี้โดยวิธีที่เคยทำมา ที่ว่า จำมหาศีล หรือระดับนิโรธสมาบัติ
ประเด็นของปราณก็คือ เราไม่ได้หนุ่มเหมือนเดิมอีกแล้ว ต้องการเวลาสำหรับจัดการทางกายมากขึ้น เช่น พักผ่อน มีเวลามากกว่าสมัยเป็นหนุ่ม เพราะไม่อาจใช้วิธีหักโหมสมบุกสมบันได้เหมือนเดิม
วิธีการจึงต้องปรับให้เข้ากับวัยของเรา แต่บัดนี้เชื่อว่าจะสามารถปรับได้อย่างแน่นอน โดยปรับให้เวลาแก่ตัวเองสำหรับดูแลกายมากขึ้น จะสมบุกสมบัน หักเอาด้วยใจอย่างสมัยหนุ่ม ๆ ย่อมพลาดแน่!
นิมิตที่ปรากฏ
7 พ.ค. 2549
วันนี้ ได้นิมิต อีกครั้งหนึ่ง เป็นวันที่มีปรากฏทางนิมิตเกิดขณะนั่งสมาธิชัดเจนอีกครั้ง
ในนิมิตนั้น เห็นญาติโยมเข้ามาเป็นแถวแนวยาว เอาข้าวของเข้ามาถวายพระอาจารย์ใหญ่ ขณะนั่งดูแลการฝึกอยู่ในภาคบ่าย
นิมิตนี้เกิดจากสมาธิ มิได้เกิดจากสติ
ขณะที่ตั้งสติภาวนา ยุบหนอ พองหนอ อยู่นั้น ภาพก็ปรากฏขึ้น พอเกิดภาพขึ้น เราก็คิดว่า ตามไปดูหน่อย ก็เห็นภาพดังกล่าว คือญาติโยมเข้ามาถวายเข้าของแด่พระอาจารย์ใหญ่มากมาย
นิมิตคราวแรก เห็นเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2549 ขณะที่สัมผัสว่าปราณเดินทะลุระดับที่ 3 ไปแล้ว
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2549 บ่าย ๆ ขณะปฏิบัติ ยุบหนอ พองหนอ เข้มจัด นิมิตเกิดเพราะสมาธิ จึงเห็นขบวนหมู่สงฆ์มามากมายแน่นไปหมด ล้วนแต่พระเถระ มหาเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระทั้งสิ้น ลำดับขบวนมาระหว่างหมู่คนแน่นขนัดสองข้างทาง
คราวแรกเราไม่ทันสังเกต คราวที่ 2 นี้จึงสังเกตได้ว่า นิมิตนี้เกิดจากสมาธิ มิได้เกิดจากสติ การเกิดนิมิตแบบปฏิภาคนิมิตนี้บอกความหมายถึงความสมบูรณ์ของสมาธิแล้ว ก็มีความพอใจมาก
พอเกิดภาพขึ้นเราก็บอกตัวเองว่า ตามไปดูหน่อย ก็เห็นนิมิตทั้งสองครั้งนี้เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจน แล้วเรารู้ตัวเองว่า ภาวนายุบหนอ พองหนอหยุดไปแล้ว สติออกไปจากปัฏฐาน ที่ตั้งแล้ว จึงเกิดนิมิต
พอเอาสติกลับมาสู่ปัฏฐานหรือที่ตั้ง หรือคำว่ายุบหนอพองหนอเหมือนเดิมได้ นิมิตก็หายไปในทันที
เราจึงรู้ว่า นิมิตมิได้เกิดจากสติ แต่เกิดจากสมาธิ
ในสายสติปัฏฐานนี้ พูดถึงเรื่องราวอะไรบ้าง?
เมื่อคราวฝึก โดยพระคุณศรีธรรมนาถมุนีฝึกให้คราวนั้น พอฝึกไปถึงระยะที่ 5 ได้นำสมาธิไปสู่สภาวะจิตนิ่งสงบเป็นอุเบกขารมณ์ ซึ่งเป็นระดับที่เราเคยพบมาแล้วว่าเป็นระดับที่เป็นขั้นเตรียมการเพื่อระลึกชาติ
นี่ก็เป็นเรื่องของสมาธิอีก มิใช่เรื่องของสติ
สติปัฏฐานเอง พาไปพบเรื่องอะไรบ้าง ที่ดูพิสดารและมีอภินิหาริย์ เช่นเรื่องราวของสมาธิ ???
โดยหลักการแล้ว น่าจะไม่มี
กระนั้น ภาวะสติที่ตื่นพร้อมและเบิกบานก็เป็นสุดยอดของเป้าหมายแล้ว
คือสุดยอดของความสว่างไสว ตื่น และเบิกบาน
สู้สงครามด้วยสติ
การฝึกเดินจงกรมขณะนี้อยู่ระยะที่ 2
ความรู้สึกของเรา เหมือนสู้สงครามอย่างสนุก จ้องจะสอดปลายหอกเข้าที่ช่องว่างของเสื้อเกราะ
และเพียงเห็นช่องทางวับ ๆ ก็สังหารข้าศึกได้
นี่แสดงถึงสติที่สมบูรณ์จริง ๆ
และรบสนุกมาก แต่ก็เหนื่อยมาก เพราะต้องใช้เอนเนอยี หรือพลังงานมากทีเดียว
เราเผลอคิดว่าเราเป็นอาคิริส วีรบุรุษกรีกแห่งสงครามทรอยเสียอีก
แต่เมื่อสังเกตปราณ กลับปรากฏว่าปราณไม่ก้าวหน้า
หรือว่าความเหน็ดเหนื่อยมากเกินไป จะกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ขัดกับปราณ ทำให้วิถีปราณไม่เข้มขึ้นเท่าที่ควร
ถามว่า มันแวบเข้าไปสู่สมาธิและเกิดนิมิตได้อย่างไร?
คำตอบ น่าเป็นว่า ตอนหยุดภาวนายุบหนอ พองหนอ นั่นเอง พอกลับมาภาวนาใหม่ นิมิตก็หายไป
ก็สรุปได้ว่า นิมิตจึงมิได้เกิดจากสติปัฏฐาน แนวการฝึกนี้จึงมิได้มุ่งหมายให้ไปเห็นนิมิตอะไร และจะต้องไม่เห็นอะไร หากเห็นอะไรก็แปลว่าออกไปจากสติปัฏฐาน
ถามว่า สติปัฏฐานไปเพิ่มสมาธิหรือไม่?
คำตอบ น่าจะใช่
กลับไปสุสานฮ่วยเซยอีก!
คืนนั้นเราตื่นสะดุ้งเพราะเสียงมอเตอไซค์ระเบิดสนั่นเวลา 02.00 น. พบว่ามีปราณรวยรินเพียงดังจะฟื้น ลุกนั่งทันที ด้วยความยินดี แต่แล้วก็เป็นเพียงการสะสมก่อตัวอยู่เท่านั้น แล้วจึงหยุดเดินปราณ
แล้วพลันเห็นเสาศาลาเรียงรายอยู่รอบ ๆ ดูสงบสงัด ไม่ไหวติง ป่าช้าเงียบสงัด แล้ววิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น และ เห็นธรรมชาติ เราสรุปไว้แค่นี้
สติปัฏฐานที่ฝึกนี้ นำไปเห็นธรรมชาติอย่างไร? ต้องติดตามวิเคราะห์วิจัยให้เห็นชัดแจ้งให้ได้
วันนี้ ฝึกมาครบ 6 วัน จะเริ่มฝึก ระยะที่ 3
- ยก...หนอ......
- ย่าง...หนอ......
- เหยียบ...หนอ......
ผลของการฝึก มีผู้ตื่น ลุกขึ้นมากมายหลายรูป น่าพอใจมาก นับว่าฝึกมาเกิดผลขึ้นจริง และสะพรึบพร้อมในทันทีหลายรูปพร้อมกัน(แต่เราเองได้ผลก่อนเพื่อนตั้งแต่วันฝึกที่ 3 คือ 4 พ.ค. 2549แล้ว)
8 พ.ค. 2549
วันนี้เวรศรีสะเกษ ทุกอย่างศรีสะเกษทำ ที่สำคัญ นำหมู่ทำวัตรและฝึกเดินจงกรม นั่งสมาธิยุบหนอ พองหนอทั้งหมด ศรีสะเกษทำได้ดีมาก
จิตไม่หวั่นไหวคืออรหันต์
9 พ.ค. 2549
วันนี้ช่อง 11 มาถ่ายทำสารคดี ตื่นเต้นกันมาก นับว่าเป็นรุ่นพิเศษที่ได้ออกโทรทัศน์ และยังเป็นรุ่นพิเศษสำหรับเป็นแกนกลางการถวายพระราชกุศลแด่ในหลวงเนื่องในการครองราชย์ครบ 60 พรรษาซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 22 พ.ค. 2549
เจ้าคุณพระราชโมลี รองเจ้าคณะภาค 10 ในฐานะผู้อำนวยการฝึก เล่าเรื่องราวการฝึกให้ฟังว่า ทางปริยัติล้วนสูญเปล่าถ้าไม่ปฏิบัติ
คำว่ามรรคมีองค์ 8 พูดอย่างไรก็ไม่เข้าใจ มาปฏิบัติจึงเข้าใจ
ท่านยกตัวอย่างพระศรีธรรมนาถมุนี เป็นเปรียญ 9 ประโยค ไม่เคยรู้จักจริง ๆ ว่าสติปัฏฐานคืออะไร แต่เมื่อมาฝึกหลักสูตรนี้ จึงรู้ว่าคืออะไร บอกว่า เพิ่งรู้จักเอาเมื่อได้มาฝึกที่นี่เอง
ท่านว่า มรรค8 แท้จริงคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ต้องรู้ด้วยสติ สติไม่ขาดจึงมีองค์มรรคทั้ง8 ประมาทไม่ได้ ต้องเพิ่มพูนสติให้แน่นไปเรื่อย ๆ
จิตไม่หวั่นไหว คือ อรหันต์
มีสติสัมปชัญญะดี นั่นแหละสมาธิดี
ขันธ์5ดับ หมายถึง ไม่มีการปรุงแต่งอีกแล้ว (ไม่ใช่ตาย)
17.30 น.
ประเมินกำลังแล้ว น่าจะไม่ผิดพลาดแน่
เมื่อปราณเดินได้แล้ว เราก็พร้อมเข้าสู่ อิริยาบถ3 เหมือนเดิมได้แล้ว
เราจะกำหนด เขตกรรมฐานเด็ดขาด ขึ้น ในราวริมป่าทิศตะวันตก(เราคิดว่าทิศตะวันออก) เพื่อให้ปรากฏแด่สายตาทั่วไป
2030 น.
อ.สมจิตร และอ.พัชรา กอปรทศธรรม พร้อมเจ้าหว้าและเจ้าหวาย นำเข้าของที่ต้องการมาส่งให้ที่ป่า สิ่งสำคัญคือ เก้าอี้ ที่เคยใช้นั่งเวลากลางคืน
ตั้งแต่นี้ไปตลอดการฝึกจะนั่งบนเก้าอี้ ไม่นอนอีกต่อไป และเก้าอี้ตัวนี้ใช้เลี้ยงปราณได้ดี จึงต้องการให้ทีมงานทั้งสองขนมาให้จากวัดมหาพุทธาราม ศรีสะเกษ
พระผู้มีปกติอยู่ด้วยอิริยาบถ 3
10 พ.ค. 2549
พวกพระสังฆาธิการเอะอะกันว่า เบอร์ออก บน 524 ล่าง 24 เป็นเลขดับเบิลบน-ล่าง
ตรงกับเบอร์ที่นั่งของเราพอดี 24 ตามลำดับอาวุโสของพรรษาเราอยู่ลำดับที่ 24 ก็นับว่าสูงอยู่ พรรษาก็ 23
เตรียมเข้ากรรมฐานขั้นเด็ดขาดแล้ว เป็นพระผู้อยู่ด้วย อิริยาบถ3
ปราณมาแล้ว แต่เรื่องกำลังล่ะ? ยังต้องตรวจสอบสังเกตอย่างใกล้ชิดต่อไป
- คืนวันที่ 10 พ.ค. 2549 ต่อกับ คืนวันที่ 11 พ.ค. 2549 นั่งหลับบนเก้าอี้ แต่ไปไม่ตลอดคืน จวนถึงตี 2 ต้องลงนอน
11 พ.ค. 2549
คืนวันที่ 11 พ.ค. 2549 ต่อกับ 12 พ.ค. 2549 นั่งหลับโดยสมบูรณ์ไปตลอดคืน
ปราณกลับมาแล้ว และจากวันนี้ไป ก็น่าจะเข้าสู่สภาวะธรรมชาติของ พระผู้อยู่ด้วยอิริยาบถ3โดยสมบูรณ์
และบังเอิญที่เลือกพักปักกลด ขึงเส้นเชือก ปักหลักไม้ไผ่ล้อมเป็นปริมณฑลจันทร์ครึ่งซีก กำหนดเป็นเขตกรรมฐานเด็ดขาด ตรงนั้นเป็นราวป่า มีกิ่งพอกใหญ่โน้มลงมาให้ชักกลดพอดี ใกล้โรงอาหารที่บิณฑบาต ทุกเช้าพวกเราจะผ่านมา และเห็น เด่น สง่างาม เวลาชักกลดขึ้นตากเวลาเช้า ดูพลิ้ว ดุจธงชัย สังเกตได้ว่าโยมที่มาทำบุญถวายภัตตาหารแต่ละวัน ๆ ทุกคนมองอย่างชื่นชมและประหลาดใจ หลายคนยังสงสัยว่า พระรูปนี้ไม่เห็นมีที่นอน มีแต่เก้าอี้ นั่งหลับเอาหรือ?
12 พ.ค. 2549
17.30 น.
พระอาจารย์ใหญ่ พระราชโมลี รจภ.10 ในฐานะผู้อำนวยการฝึก พาเวียนเทียนอย่างสงบ
เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก
13 พ.ค. 2549
เช้านี้เป็นคืนที่ 3 ที่นั่งไปตลอดคืน คอเคล็ดอยู่เล็กน้อย เพราะเอียงไประยะหนึ่ง
ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่คิด ระวังจะถอย
เพราะว่าการเดินจงกรมหมู่ อ.จ.พระราชธีราจารย์ ไม่อยู่ ให้มือสมัครเล่น(นักเรียนกันเอง) มาบอกนำ แทนที่จะให้มืออาชีพนำปฏิบัติละเอียดยิบไปเรื่อย กลับเสียหาย
ช่วงนั้นเสียหายมาก อารมณ์กรรมฐานแตกกระเจิง
นักเรียนพระพูดมาก และไม่เข้าใจอารมณ์กรรมฐาน ไม่เข้าใจวิธีการรักษาไว้และเพิ่มพูนตลอดไป
14 พ.ค. 2549
เดินระยะที่ 5 เวลาค่ำ
- ยกส้น...หนอ
- ยก....หนอ
- ย่าง....หนอ
- ลง....หนอ
- ถูก....หนอ
-
เราดำริว่า เพื่อสำเร็จกิจที่ประสงค์ จงอย่าละความพยายามเลย หลังเพลมีเวลาช่วงหนึ่ง จึงขึ้นไปที่ฝั่งสระใหญ่ ด้านไกลสุดพู้น ไปฝึกเดินจงกรมบนฝั่งสระ ทบทวนตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึง ระยะที่ 5
เป็นการสร้างภาพที่โดดเด่นต่อสายตาคนทั้งหลาย เห็นพระเดินจงกรมช้า ๆ ดูแช่มช้อยสวยงาม
15 พ.ค. 2549
หลังภัตตาหาร เรารีบไปที่ฝั่งสระที่เดิม ฝึกซ้อมอย่างอุกฤษ จริงจังและละเอียดละออ ทบทวนทั้งหมด
14.35 น.
ขณะฝึก จบเดินระยะที่ 4 กำลังจะขึ้นระยะที่ 5 ก็สว่างไสวไปหมดรอบด้าน บรรยากาศทุกอย่างรอบตัวเจิดจ้าเป็นละอองทอง เปล่งประกายงดงาม ระยิบระยับไปหมด นี่คือสติที่ตื่นพร้อมพรั่งแล้ว ของวิเศษปรากฎแล้ว
ในขณะนั่ง พองหนอ ยุบหนอ ต่อไป ปรากฏว่าโคนขาซ้ายเคล็ด ปวด เดาะ ๆ เสียแล้ว เนื่องเพราะเราตั้งใจมากเกินไป รวมทั้งการไปฝึกบนสันฝั่งสระ ซึ่งเป็นที่ขรุขระ ไม่ราบเรียบและเต็มไปด้วยกรวดหินต่าง ๆ และใช้เอนเนอยีมากเป็นพิเศษ
อนิจจาวะตะสังขารา
16 พ.ค. 2549
ขึ้นระยะที่ 6 ระยะสุดท้าย
- ยกส้น....หนอ
- ยก....หนอ
- ย่าง....หนอ
- ลง.....หนอ
- ถูก......หนอ
- กด....หนอ
ภาคบ่ายโคนขาซ้ายเคล็ดหนัก ตอนเข้าสมาธิเลยถือโอกาสนวดตลอดเวลา ไม่เข้าสมาธิด้วย อาจารย์ทั้งสองท่านหันหลังให้
เราออกไปจงกรมที่ฝั่งสระใหญ่นู้นเป็นเช้าวันที่ 3 แล้ว
ตรงนั้นแสดงความเชี่ยวชาญละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จึงใช้พลังมาก หักโหมเอาให้ได้ จนเดาะเข้าเสียแล้ว
นี่เลยต้องรำพึงถึงสังขาร
ก็วัย 63 แล้ว ก็แก่แล้ว ไม่เหมือนครั้งหนุ่มเรียนมหาวิทยาลัย ที่ฝึกวิชาจิตตานุภาพของหลวงวิจิตรวาทการอยู่ ฝึกเอาดั่งใจก็ได้ เพราะร่างกายหนุ่มสมบูรณ์ หักโหมเอาตามใจอย่างไรก็ได้ ร่างกายจึงมีความสำคัญพอ ๆ กับจิตโดยแท้ เมื่อพร้อมทั้งกายและจิต มีความมุ่งมั่นพยายามอย่างแรงกล้า เป้าหมายการฝึกก็บรรลุ
ในครั้งนั้น ฝึกได้จิตตานุภาพขนาดไหน? ก็ขนาดสามารถสะกดจิตเรียกหญิงสาวมาหาได้ในเวลาค่ำคืนตลอดเวลา 30 วันนั่นอย่างไร!!!(เรียกมาหาทุกคืน ๆ หมอผีชัด ๆ ) มานึกดูบัดนี้แล้ว นับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เพราะได้ผลที่พิศูจน์เป็นรูปธรรมได้จริง ๆ แต่เราก็ได้ทิ้งวิชาเช่นนั้น(วิชามาร)ไปเสีย เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้า ตามเสียงเรียกว่า จะเลือกทางพระหรือทางมาร ถ้าเลือกทางพระก็จงทิ้งวิชามารเสีย
และเนื่องด้วยสังขารที่โทรมทรุดลงไปไม่ยั่งยืน
จึงรู้สึกเหนื่อยในภาระข้างหน้า
ดูเหมือนเรายังจะต้องทำอะไรหลายอย่าง??
เหนื่อยแทนครูบาอาจารย์ที่นี่
และท่านก็เหน็ดเหนื่อยน่าเห็นใจ เพราะภาระอันบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา ยากที่คนทั้งหลายจะเข้าใจในความสำคัญ ยากที่ปัจเจกชนคนธรรมดาจะอุปถัมภ์ขนาดใหญ่
ท่านผู้อำนวยการฝึกท่านยังหลุดปากว่า เมื่อผมเหนื่อยขึ้นมา ผมก็คิดว่า ไม่ใช่ศาสนาของผมคนเดียวเหมือนกัน
นัดให้อ.สมจิตร มาเอาของกลับในเย็นวันที่ 21 พ.ค. 2549 ส่วนเราเองจะเดินธุดงค์กลับ ว่าจะแก้ตัวที่ทำพลาดไปในคราขามา ที่เดินเท้ามาถึงแค่กันทรารมย์
แต่ขณะนี้โคนขาแสดงอาการ ดูเหมือนจะต้องวางแผนใหม่ จะไปพักที่สุสานฮ่วยเซยสัก 2 คืนเพื่อส่งข้อมูลขึ้นเวบไว้ก่อน แล้วค่อยพิจารณาอีกที
เราจะต้องไปธิเบต หรืออินเดีย เพื่อฝึกธรรมของธิเบตที่ธิเบต หรือดาไลลามะที่อินเดีย
ต้องรีบทำ เพราะเวลาเหลือน้อยแล้ว
จากนั้น ไปจีน พม่า ลังกา แอบไปเขมร ลาว ฯลฯ
ให้เวลา 2 ปี โดยประมาณ ทั้งนี้เพราะปราณกลับมาแล้ว ต้องรีบฉกฉวยประโยชน์ไว้ก่อน
เรากะจะเดินงานทันที จะไปพม่าก่อน ไปเชียงราย แล้วหาทางเข้าพม่า จะต้องศึกษาก่อนว่ามีอะไรดี ๆ ที่ไหน? และจากนั้น หาช่องทางไปอินเดีย จะได้หรือไม่? จะต้องไปสำนัก ดร.โกเวนก้า ให้ได้ ไปนาคปุระ แล้วไปอีกหลายแห่ง
นี่ก็วาดแผนที่ไปก่อน จะจริงหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง เพราะเราต้องพึ่งตัวเองทุกอย่าง
17 พ.ค. 2549
เราต้องเอายาหม่องนวดต้นขาในห้องเรียนแล้ว เหยียด ขณะนั่งฟังพระอาจารย์
เราพยายามถึงระดับที่ยากอย่างยิ่งแล้ว เพราะเดินทุก ๆ วัน ทุกนาทีไม่เคยขาด และยังไปฝึกพิเศษหลังสระน้ำอีก 3 เช้า และยังเดินทางไกลอีกด้วย อย่างน้อยก็เท้าแตกระบมขณะเดินจากศรีสะเกษถึงอ.กันทรารมย์ ประมาณ 20 กม.
การเดินจงกรม 2-17 พ.ค. เดินทุกๆวัน เดินตลอดวัน ระหว่างเวลา 03.30 22.30 น. เท่ากับเดินวันละ 19 ชั่วโมง
และเราไม่เคยเสียเวลาการฝึกเลย ในเช้าวันที่ 4 พ.ค. 2549 ลุกไปห้องน้ำครั้งเดียวและครั้งแรก เพราะเกิดทุกข์กระทันหัน จากนั้นก็ไม่เคยลุกออกไปเข้าห้องน้ำเหมือนคนอื่น ๆ ไม่ลุกไปไหนเลยตลอดมาจนจบหลักสูตร
ซึ่งต้องนับว่าเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก ๆ แต่เราเองกลับเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่รู้สึกอะไร
และเมื่อค่ำวานนี้ พระอาจารย์พระราชธีราจารย์ (จจ.นครพนม จล.วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร) ท่านมายืนดูเราเดินอยู่ตลอดตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึง ระยะที่ 5 เราเห็นท่านมายืนสำรวจดู คล้ายจะให้คะแนน ก็อยากให้ท่านชื่นใจว่าเราเดินถูกต้องเชี่ยวชาญอย่างไร เหนือชั้นอย่างไร ก็แสดงเต็มที่ อย่างตั้งใจที่สุด ให้เห็นลีลาว่า ขนาดฝึกบนหลังคูสระเต็มไปด้วยหิน ก็ยังทำได้เชี่ยวชาญ ฝึกบนนี้จะต้องเต็มที่ (เราหมายถึง แสดงความมีสติในการเดินจงกรมอย่างไร สติตื่นพรั่งพร้อมในขณะเดินจงกรม โดยการเดินอย่างไร ซึ่งเป็นหัวใจหรือจุดสำเร็จของการฝึกนี้)
ผลก็คือสิ้นเอนเนอยีไปมาก เพราะเดินจงกรมเป็นเวลาร่วม 1 ชั่วโมง เท้า และโคนขา ทำงานหนัก จนต้องงัดยาหม่องออกมาทา
18 พ.ค. 2549
ปวดขา จนนั่งสมาธิไม่ได้ ตรงนี้ต่างจากนั่งหลับกลางคืน เพราะนั่งหลับไม่ได้ทำอะไร ทำใจว่าง สบาย ถึงนั่งสมาธิไม่ได้แต่ก็นั่งในป่าได้ทั้งคืน และนี่เป็นคืนแรก(ย้ายกลดเข้าป่า)และฝนตกบาง ๆ อีกด้วย เราคิดว่า คนก็คงรู้ว่า อะไรเป็นอะไร นี่คือ พระพยับ ปญฺญาธโร พระผู้มีปกติอยู่ด้วยอิริยาบถ 3
19 พ.ค. 2549
ผ่านกลางคืนมาท่ามกลางฝนตก แต่ก็ไม่มีปัญหาสำหรับเรา เพราะนั่งหลับใต้กลด ยิ่งเย็นสบายไปตลอดคืน
เนื่องจากใช้ศิลปะการปักกลด โดยเลือกอยู่ใต้ซุ้มไม้ใหญ่ กิ่งใบไม้สานกันกรองสายลมและฝนให้ตกลงมาเป็น
หยดหยาดเบา ๆ ไม่กรรโชก ฝนก็ตกลงมาเป็นเส้นตรง ไม่สาดเข้ามาเปียกคนใต้กลด ก็เย็นสบาย
ไม่มีปัญหาจริง ๆ เช้าเราก็ลุกตามปกติ แต่หงุดหงิดนิดหน่อย
เราคิดว่าหลักสูตรอ่อนไป และไม่ค่อยระวังอะไรที่ละเอียดอ่อนเท่าที่ควร ไม่ระวังอารมณ์กรรมฐานของหมู่ ซึ่งส่งผลกระทบเราด้วย นึกขึ้นมาก็เลยหงุดหงิด
แต่เราอยู่ในฐานะลูกศิษย์เขา ก็ไม่อยากพูด
เราจะต้องทบทวนให้ชัดเจน
ดูเหมือนว่า 2-3 วันหลังนี้ ไม่มีความก้าวหน้าเลย มีแค่นี้เองหรือ? น่าสงสัยจริง ๆ ว่าคงจบแค่นี้เอง
น่าเสียดาย
เราเห็นอีกฟากหนี่ง ที่ตรงข้ามกันคนละทิศเลย เป็นพวกสมาธิ ดูนิมิตต่าง ๆ แล้วไปยึดมั่นในนิมิตเหล่านั้น เอาเรื่องนิมิตต่าง ๆ ไปโฆษณาชวนเชื่อ ส่วนคนก็ชอบนิมิต หลงว่าไปสวรรค์วิมานได้ ฯลฯ ไกลสุดถึงขนาดหลงว่านิมิตคือมรรคผล คือพวกธรรมกาย น่าติดตามศึกษาวิจัยเอามาเปิดเผยกันให้ทราบบ้าง
หรือว่าอย่างไรกันแน่?
ภาคบ่าย 14.00 น.พระอาจารย์ พระราชโมลี เทศน์อธิบายเรื่องญาณ ปัญญา ท่านว่าญาณยังไม่แน่น ต่อเมื่อเป็นปัญญาจึงใช่ ท่านหมายความว่าญาณเป็นเพียงขั้นต้นของปัญญา
คำหนึ่งของท่านที่ได้ยินบ่อย ๆ คือ มันเป็นมายาทางโลก เหมือนพยับแดด
20 พ.ค. 2549
04.00 น.
เราเป็นผู้ถูกกำหนดให้พาหมู่ทำวัตร และปฏิบัติธรรม ทั้งพาเดินจงกรม 6 ระยะอันสมบูรณ์ และพานั่งสมาธิสติปัฏฐาน ยุบหนอ พองหนอ ตลอดช่วงเช้านี้
แท้จริงก็เพียงจะให้พระอาจารย์ทั้งสองท่านได้เห็นว่าเราทำได้อย่างไร ใช่ว่าอยากจะเป็นผู้นำ และบังเอิญอย่างไรไม่ทราบ พระอาจารย์ทั้งสองไม่ออกมา(แต่ท่านแอบฟังอยู่ข้างนอก) เราจึงทำหน้าที่ผู้นำอย่างเต็มตัว โดยออกไปนั่งข้างหน้า เหมือนเป็นครูอาจารย์อย่างนั้นแหละ แต่ก็โดนพรรคพวกถล่มหลายอย่างอยู่ เหมือนกัน ตอนพากราบ 1-2-3-4-5-6 กราบไปได้แค่3-4 เราคิดขึ้นมาว่า มัวแต่กราบก้ม ๆ เงย ๆ อยู่นั่นแหละ ก็บอก 6 พวกร้องเฮกันลั่น คือลูกเล่นน่ะ อย่าเครียดกันนัก และทำผิด ย่อมได้ ย่อมเป็นของปกติ แต่ต้องเข้าใจแก้ไขให้ถูกให้ได้ นี่คือธรรมชาติ เราต้องการเป็นผู้นำแบบธรรมชาติ คืออะไรควรพลาดก็พลาดบ้าง เท่านั้นเอง ไม่งั้นจะเกร็งเกินไป จนไม่กล้าแสดงออก กลายเป็นพวกเก็บกด ซ่อนลายไป
1830 น.
เวลาเย็น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้จัดงบประมาณสนับสนุนการฝึกอบรมครั้งนี้ ได้นำแบบสอบถามมาขอข้อมูล เราเสนอให้สนับสนุนงบประมาณมาที่หลักสูตรนี้อย่างเต็มที่ ให้มากพอจนทำให้ศูนย์ฝึกนี้เป็นที่รวม ที่พักอาศัย ที่ดำรงชีพของพระธุดงค์กัมมัฏฐานที่เป็นอนาคาริกทั้งหลายเพื่ออยู่ประจำหรือจรมา และทั้งพระสังฆาธิการ ที่ไม่ประสงค์กลับไปเป็นพระสังฆาธิการอย่างเดิม สามารถอยู่ได้และปฏิบัติหน้าที่การเผยแผ่ได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลควรสนับสนุนให้ศูนย์นี้ปฏิบัติหน้าที่การฝึกอบรมตามหลักสูตรเช่นนี้ต่อไปอย่างไม่กังวล ให้บำเหน็จ การบำรุงอุปถัมภ์แด่พระคณาจารย์ผู้ฝึกอบรมอย่างเต็มที่ ให้ได้ปฏิบัติหน้าที่การสอนธรรมะอันล้ำเลิศโดยบริสุทธิ์ และให้กลายเป็นอุทธยานพุทธเกษตรระดับสากลต่อไป ควรที่จะจัดการอย่างเร่งด่วน และขยายกิจการฝึกอบรมออกไปโดยเร็ว ในขณะนี้ที่มีอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถยอดเยี่ยม และเป็นบุคคลที่หาได้ยากสามารถทำการสอนได้อยู่
ญาณ 16
21 พ.ค. 2549
05.00 น.
เทศน์ลำดับญาณ 16 โดยพระอาจารย์ พระราชธีราจารย์ จจ.นครพนม จล.วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
เป็นการเทศน์ที่แสดงว่า บัดนี้การฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ตามหลักสูตรสติปัฏฐาน เสร็จสิ้นลงแล้ว
ท่านอธิบายว่า ญาณ 16 คืออะไร การฝึกมาทั้งหมด ได้นำไปสู่ความเข้าใจ หรือบรรลุถึงญาณ 16 เท่าไร ให้พิจารณาเอาเอง
นั่นหมายความว่า การฝึกทั้งสิ้นนี้ มีเป้าหมายก็คือการบรรลุญาณ 16 ระดับใดระดับหนึ่ง
การบรรยายหรือเทศน์ญาณ 16 ของพระอาจารย์นี้ ค่อนข้างเป็นเรื่องชั้นสูง ตามไม่ทัน จำชื่อญาณที่ท่านเทศน์ไม่ได้
แต่ตามตำราญาณ 16 มีดังนี้
จบการรายงานภาค 3 การฝึกอบรม
โปรดติดตามภาค 4
การเดินทางกลับโดยสมาทานธุดงค์ของพระพยับ ปญฺญาธโร
บนเส้นทางจาก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ถึง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ
เส้นทางประมาณ 120 กิโลเมตร
* แฟ้ม vipassna3new.doc