ReadyPlanet.com
dot


เงินกู้นอกระบบที่ว่าร้าย เงินกู้ในระบบก็ตัวดี


 เงินกู้นอกระบบ เป็นเรื่องที่สร้างปัญหาตามที่เห็นกันมามาก แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก แต่อันที่จริงสิ่งที่ควรระวังที่สุดคือ “หนี้ในระบบ!” อ่านไม่ผิดหรอกครับถือว่าเป็นเรื่องราวเล่าสู่และชวนให้คิดตามกัน….

คงมีไม่น้อยที่รู้สึกเหมือนกันกับผม เวลาเห็นข่าวปัญหาเงินกู้นอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีทวงหนี้เดือด หรือโยงไปสู่การก่ออาชญากรรม ชิง ปล้น ไปจนถึงการจบชีวิตตัวเองเพราะสู้หนี้ไม่ไหว มันทำให้แอบคิดว่าทำไมต้องไปกู้นอกระบบ? แต่มองลึกลงไปบางที เงินกู้ในระบบ นี่แหละคือตัวร้ายคล้ายเป็น เพื่อนกันกับนอกระบบ เลยทีเดียว…เป็นความจริงที่ขึ้นอยู่กับวินัยทางการเงินหรือปัจจัยบุคคลที่เป็นต้นตอของทุกอย่าง แต่เราจะไม่พูดถึงกันในบทความนี้ และการกู้ยืมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เพียงแต่จะกู้มาเพื่อสิ่งใดนั้นก็เป็นปัจจัย ที่สำคัญสุดคงเป็น กู้มาจากไหน? และดอกเบี้ยเท่าใด? นี่ล่ะที่ทำให้ปัญหาตามมา

เงินกู้นอกระบบ

เหตุผลเดียวที่เงินกู้นอกระบบเลวร้ายคือ “ดอกเบี้ย” ที่มากเกินไป สมัยเริ่มทำงานด้วยเงินเดือนที่น้อยนิด ก็แอบคิดยิ้มเยาะกับเงินกู้นอกระบบบนความรู้สึกว่าต้องโง่มากแน่ ๆ ที่จะไปเสียดอกแพงขนาดนั้น แต่ยิ่งโตขึ้นมากลับกลายเป็นว่าเห็นคนรอบตัวมีปัญหาเรื่องนี้กันบ่อยครั้ง ทำให้เฉลียวใจต้องมาคิดใหม่ “ทำไมกันนะ?…”

“ความจำเป็น” คือคำตอบพื้นฐานที่พูดง่ายแต่เข้าใจยาก หากขยายให้เห็นความจำเป็นบางรูปแบบของหลายคน คือ “พลาดไปแล้ว หาทางออกไม่ได้…” เพราะในวัยเริ่มสร้างตัวโอกาสผิดพลาดทางการเงินยังน้อย โอกาสหาเงินก็ยังเปิดกว้าง แต่พอเข้าช่วงหนึ่งภาระมากขึ้น ปัญหาสะสมมากขึ้น ทางออกจึงน้อยลง ไม่มีสถิติเป็นทางการแต่ถ้าไปไล่ดูน่าจะพบว่า คนหนุ่มสาวน้อยนักที่จะเป็นหนี้นอกระบบ หากไม่เกี่ยวกับอบายมุขหรือการพนัน แต่วัย 30 ขึ้นไปมักเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของหนี้นอกระบบมากกว่า และอย่าไปถามว่าทำไมไม่ไปกู้ในระบบ เพราะคำตอบอาจจะพบได้ว่า “กู้แล้ว…”

ปัจจัยอีกประการของหลายคนคือ ด้วยวัยที่ล่วงเลยบนชีวิตที่ผิดพลาดจึงไม่อาจหางานประจำทำที่มีหลักฐานมั่นคงพอให้กู้ในระบบได้ เช่น ค้าขายมานานแต่มันไม่เคยดีขึ้น (ที่จริงควรเปลี่ยนตัวเองแต่ก็ทำไม่ได้) วันนี้จะไปกู้ในระบบจึงยาก เพราะไม่มีเงินเดือน รายได้ไม่เพียงพอ กลุ่มนี้ก็มีมากมาย แต่จะว่าไปแล้วนี่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง

เงินกู้ในระบบ

ธุรกิจย่อมต้องการกำไร เงินกู้ในระบบก็เป็นธุรกิจที่เรียกว่า “ธุรกิจสินเชื่อ” ย่อมต้องการกำไรไม่ต่างกัน ในธุรกิจทั่วไป อาจมีกลยุทธ์การตลาด ทำให้เราตกเป็นทาสการตลาด มีการออกโปรโมชั่น โฆษณากระตุ้นให้เราสนใจ อยากได้ อยากมีในสิ่งนั้น ๆ เพียงแต่หากเราหลงไปในสิ่งไม่จำเป็น ก็ถือว่าเต็มใจที่จะจ่ายมันไปเอง

แต่เงินกู้ในระบบบางส่วนเสริมแรงกระตุ้นให้คนหลงไป เช่น ผ่อนสินค้า 0% ด้านหนึ่งเป็นข้อดีของผู้ซื้ออย่างเรา (ฝั่งสินเชื่อได้ค่าธรรมเนียมจากฝั่งผู้ขาย) ผมเองก็ใช้บ่อย ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็คล้ายขุดบ่อล่อปลา ถ้าไม่มีวินัย เมื่อสะดวกดี ก็มีโอกาสผ่อนกันง่าย ๆ แต่ถ้าขัดสนขึ้นมา ชำระช้าเพียงนิด 0% นั่นจะเพิ่มเป็น 20% ได้ไม่ยาก (ดอกเบี้ยปกติ+ค่าธรรมเนียมสารพัด) กลายเป็นมากกว่าแพงกว่าผ่อนแบบมีดอกปกติไปเยอะ และอีกส่วนคนที่มีบัตรประเภทผ่อนสินค้าบางคนไปซื้อ(รูด) สินค้าออกมาขายถูกกว่าตลาดเพื่อให้ได้เงินสดไปแทน ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรเพียงแต่มันเริ่มสะท้อนได้แล้วว่าผิดประเภท และดอกเบี้ยแฝงโหดพอดู สล็อต

บัตรกดเงินสด ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ร้ายกาจกว่าบัตรเครดิต เพราะเงื่อนไขทำได้ง่ายกว่าบัตรเครดิต แต่หากพิจารณาจะเห็นว่า แทนที่คนฐานเงินเดือนน้อยจะเสียดอกเบี้ย/ค่าธรรมเนียมต่ำ กลายเป็นสูงกว่า (เข้าใจได้อยู่ว่าประเมินที่ความเสี่ยง) แต่เมื่อได้มาง่าย/ใช้งานง่ายกว่า ก็หลงไปได้ง่ายกว่า และปัญหาก็มีด้วยตรงที่ว่าฐานเงินเดือนเดียวแต่ออกบัตรได้หลายใบ น่าสนใจไหมล่ะ.

ที่เริ่มร้ายเข้าไปอีกทุกวันนี้หลายธุรกิจทำในสิ่งที่เรียกว่า ไมโครไฟแนนซ์ (Microfinance) นอกจากเงินกู้รายย่อยเข้าถึงง่ายแล้ว เหล่าแอพต่าง ๆ ก็มีวงเงินให้ผ่อน ให้ใช้ก่อน โดยแทบไม่ต้องอนุมัติอะไร แม้จะไม่หนักหนาในตอนนี้ (เพราะปี 2565 ถือว่าเพิ่งเริ่ม) แต่มันส่งผลต่อเนื่องไปได้ไม่ยากเลย

กลุ่มสหกรณ์ เป็นอีกที แต่จะกล่าวหาว่าร้ายคงไม่ได้ เพราะที่จริงแล้วกลุ่มสหกรณ์อยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ดีมาก เป็นแหล่งเงินทุนช่วยเหลือที่ดีที่สุดแล้ว ผมเองยังอิจฉาสมาชิกหลายกลุ่มสหกรณ์เพราะได้เข้าถึงเงินทุนที่ดอกเบี้ยดีสุด ๆ เพียงแต่… ที่สุดแล้วด้วยความที่ดอกเบี้ยถูก อนุมัติง่ายเพราะหักเงินเดือนได้ทันที (โดยอย่างยิ่งสหกรณ์ข้าราชการต่าง ๆ) มีส่วนส่งเสริมสวัสดิการหลากหลาย แต่หากไปดูเบื้องหลังจะพบว่า หลายคนกู้มาจนเดือนหนึ่งเงินเดือนเหลือไม่ถึง 3-5 พัน อยากให้ลองมองความเป็นจริงว่าดำรงชีวิตกันอย่างไร?

เหล่านี้ที่กล่าวมาคือ “เงินกู้ในระบบ”



ผู้ตั้งกระทู้ mii (lelemimi888-at-gmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2023-08-03 10:10:02


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.