ReadyPlanet.com
dot


มวลชนควรรู้กฎการใช้กำลังของทหาร เพิ่อพลิกแพลงสถานการณ์เอาชนะอำมาตย์


แกนนำและมวลชนควรรู้กฎการใช้กำลังของทหาร เพิ่อพลิกแพลงสถานการณ์เอาชนะอำมาตย์

 ทหารที่ประทับปืนยิงวิถีราบใส่พลเรือนนั้น มีความผิดอาญาฐานพยายามฆ่าแล้วไม่สามารถหลีกเลี่ยงความผิดนี้ได้ หากมวลชนมีการถ่ายรูปและบันทึกภาพที่ดีแล้วจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าทหารไม่ได้มีการกระทำตามขั้นตอน ถ้ามาถึงกวาดล้างทันทีตามที่นายเขาสั่งก็เป็นความผิดสำเร็จทันที


โดย Pegasus
11 มีนาคม 2553

บทความเกี่ยวเนื่อง:ขอเตือนทหารอย่าเสี่ยงดีกว่า:ปราบประชาชนโทษถึงประหาร

กฎการใช้กำลังของทหารต่อพลเรือนในโลกสมัยใหม่เกิดขึ้นทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เกิดสงครามกลางเมืองหรือการควบคุมความไม่สงบภายหลังสงคราม

ปกติจะเป็นมติของสหประชาชาติซึ่งทหารไทยก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าการบังคับให้เกิดสันติภาพ (peace keeping operations) ซึ่งโดยนัยแล้วหมายถึงการใช้กำลังทางทหารในการปฏิบัติการ เช่นในกรณีของอิรัก และโซมาเลีย เป็นต้น

กฎการใช้กำลัง กฎการปฏิบัติการ หรือกฎการปะทะ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Rule of Engagement (ROE) ซึ่งเป็นหลักสากล ทหารไทยแม้จะอ้างว่ามีกฎหมายอะไรก็ตาม ก็ยังต้องทำตามกฎสากลเช่นว่านี้ มิฉะนั้นแล้วในข้อบังคับของทหารเองก็นับว่าเป็นความผิด ดังนั้น มวลชนก็ควรรู้และใช้ประโยชน์ต่อกฎการใช้กำลังนี้ให้เป็น

กฎการใช้กำลังนั้น มีข้อยกเว้นแต่เพียงว่าหากมีอันตรายต่อทหารหรือหน่วยทหาร ก็สามารถป้องกันตัวได้โดยชอบ ซึ่งทหารมักนำมาอ้างบ่อยๆ แต่เพราะทหารมักไม่ค่อยเข้าใจเรื่องกฎหมาย อ่านหนังสือน้อย ฟังแต่ผู้บังคับบัญชาที่ไม่มีความรู้

ความผิดพลาดต่างๆในเรื่องของกฎเกณฑ์นี้จึงอาจเกิดขึ้นได้ และอาจนำไปสู่การตัดสินประหารชีวิตผู้บังคับหน่วยทหาร และผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นนั้นในที่สุด ดังนั้น มวลชนจึงควรรู้และใช้ประโยชน์กฎการใช้กำลังนี้ให้เป็นเช่นกัน

กฎการใช้กำลังส่วนแรกขอยกมาจากบทความของ ร้อยโท อริย วิมุติสุนทร นายทหารพระธรรมนูญ กรม 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยในกรุงเทพฯ ที่จะใช้ปฏิบัติการกับฝ่ายเสื้อแดงในครั้งนี้ด้วย โดยจะขอหยิบยกมาเฉพาะที่น่าสนใจดังนี้

“...แนวทางปฏิบัติทั่วไป ในการใช้กำลัง

๑. หากเป็นไปได้ ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการใช้กำลัง

๒. หากจำเป็นให้ใช้กำลัง ให้น้อยที่สุด

๓. พิจารณาระดับกำลัง

๓.๑ การโน้มน้าวด้วยวาจา

๓.๒ เทคนิคการป้องกันตัวแบบไม่ใช้อาวุธ

๓.๓ สิ่งระคายเคืองที่เป็นละอองสารเคมี เช่น แก๊ซน้ำตา ฯลฯ

๓.๔ การใช้กระบองของสารวัตรทหาร

๓.๕ การใช้สุนัขทหาร

๓.๖ การแสดงให้เห็นอาวุธสังหาร

๓.๗ การใช้กำลังที่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

๔. ห้ามมิให้ใช้การยิงเตือน (warning shots) สาเหตุ เนื่องจากในสถานการณ์ที่มีความสับสนนั้น เสียงที่ดัง มาจากการยิงเตือนนั้น อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดไปได้หลายทาง เช่น เข้าใจว่าเกิดการปะทะขึ้นแล้ว หรือผู้ถูกยิงเตือนเข้าใจว่ากำลังถูกทำการยิง ฯลฯ ซึ่งมักจะส่งผลให้บุคคลอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่ถูกยิงเตือนนั้น รู้สึกถึง “ภัย” ที่อาจจะเกิดขึ้น และด้วยสัญชาตญาณจะพยายามที่จะหลบหลีกออกจากบริเวณดัง กล่าว ( getaway from the area) ให้รวดเร็วที่สุด ซึ่งจะยิ่งทำให้การควบคุมเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้จากผล การศึกษา การใช้การยิงเตือน ยังมักจะก่อให้เกิดอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการยิงปืนขึ้นฟ้า ซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์ กระสุนก็จะต้องไปตกยังที่แห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งอาจถูกคนหรือทรัพย์สินเสียหาย หากเป็นการยิงขึ้นฟ้าไปตรงๆ ก็จะพบว่ากระสุนจะตกกลับมาถูกคนหรือทรัพย์สินในบริเวณที่ทำการยิงขึ้นไปนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การยิงปืนเฉลิมฉลองในงานเทศกาลต่างๆ เมื่อมีคนตายหรือบาดเจ็บ มักจะพบว่าเกิดจากกระสุนที่ตกลงมานั่นเอง หรือกรณีการยิงปืนลงพื้นนั้น ยิ่งพบว่ามีอันตรายมาขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเราไม่ทราบเลยว่ากระสุนจะแฉลบไปทางใด และจะถูกใครได้รับบาดเจ็บบ้าง

๕. หากเวลาและสถานการณ์อำนวย บุคคลที่แสดงอาการเป็นภัย ควรได้รับการเตือนและได้รับโอกาสที่จะหยุดการกระทำที่เป็นภัยนั้น

๖. ใช้การเปิดเผยให้เห็นว่าพาอาวุธเท่านั้น การชักอาวุธปืนออกมาจากซองปืน จริงๆนั้น ใช้เฉพาะกรณีมีเหตุผลอันสมควรที่จะเชื่อได้ว่าอาจจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธ เท่านั้น...”


ในส่วนแรกนี้ จะเห็นได้ว่าทหารไม่ได้รับอนุญาตให้ถือปืนในลักษณะพร้อมยิงตั้งแต่แรก (คงต้องสะพายปืนเฉย) และห้ามการยิงเตือน การยิงลงพื้นหรือกรณีใดๆที่จะทำให้พลเรือนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

จริงอยู่ไม่ได้ห้ามการใช้อาวุธสังหาร แต่จะทำได้ต่อเมื่อมีอันตรายถึงชีวิตของทหารเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากการชุมนุมสามารถป้องกันการสร้างสถานการณ์ได้ดีพอ เหตุและเงื่อนไขที่ทหารจะใช้อาวุธนั้นจะไม่มี ยิ่งไปกว่านั้นแม้มีเหตุจากที่อื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าพลเรือนที่อยู่ตรงหน้าทหารจะเป็นภัยถึงชีวิตเช่นนั้นเหมือนกัน

ดังนั้นจึงแน่นอนว่าในกรณีสงกรานต์เลือดทหารที่ประทับปืนยิงวิถีราบใส่พลเรือนนั้น มีความผิดอาญาฐานพยายามฆ่าแล้วไม่สามารถหลีกเลี่ยงความผิดนี้ได้ หากมวลชนมีการถ่ายรูปและบันทึกภาพที่ดีแล้วจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าทหารไม่ได้มีการกระทำตามขั้นตอนที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นคือ การใช้วาจา การใช้สุนัข การแสดงอาวุธแต่ไม่ประทับปืน ฯลฯ มาก่อนหรือไม่

ถ้ามาถึงกวาดล้างทันทีตามที่นายเขาสั่งก็เป็นความผิดสำเร็จทันที ดังนั้นแกนนำต้องจัดตั้งมวลชนที่ชำนาญการใช้กล้องดังกล่าวไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อถ่ายทำเหตุการณ์ต่างๆอย่างคนที่รู้สถานการณ์ไม่ใช่ขอร้องโดยทั่วไปเหมือนที่ผ่านมาและต้องเป็นช่างภาพที่รู้มุมของการถ่ายและบันทึกภาพสำคัญๆตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวถึงมาแล้วนี้ด้วย

นกรณีที่จะใช้อาวุธสังหาร จะทำได้อย่างไร ร้อยโท อริย ฯ กล่าวต่อไปว่า

“...แนวทางทั่วไปในการ ใช้กำลังที่อันตรายถึงชีวิต

๑. ยิงเพื่อให้ผู้ที่ถูก ยิงหมดความสามารถ

๒. ยิงโดยคำนึงถึงผู้ที่ไม่เป็นภัยที่อยู่ข้างเคียง

๓. ใช้กำลังทหารเฉพาะเมื่อจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น กล่าวคือ

๓.๑ เมื่อใช้วิธีที่อันตรายน้อยกว่าแล้วไม่เป็นผล

๓.๒ ไม่เพิ่มความเสี่ยงแก่ผู้ที่ไม่เป็นภัย

๓.๓ มีความจำเป็นสมเหตุสมผลเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์

การใช้กำลังสังหารจะ กระทำเฉพาะเพื่อ

๑. ป้องกันตัวจากอันตรายอันจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บอย่างรุนแรง

๒. ป้องกันอาชญากรรมที่อันตรายถึงชีวิตหรือบาดเจ็บขั้นร้ายแรง

๓. ป้องกันการขโมยหรือ การก่อวินาศกรรมต่อทรัพย์สินอันมีค่าต่อความมั่นคงของชาติ

๔. ป้องกันการขโมยหรือ การก่อวินาศกรรมต่อทรัพยากรที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงได้

๕. ป้องกันความเสียหาย ของสาธารณูปโภคที่สำคัญ

๖. จับกุมบุคคลที่ก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามเฉพาะหน้า

๗. ป้องกันการหลบหนีของ นักโทษที่ก่ออาชญากรรมเกี่ยวข้องกับภัยคุกคาม

เฉพาะหน้า ...”


ตามข้อกำหนดทางทหารในส่วนที่สองดังกล่าวนี้ มวลชนมีหน้าที่จะต้องไม่แสดงให้ทหารเห็นว่าจะสามารถทำร้ายทหารถึงกับชีวิตหรือบาดเจ็บอย่างรุนแรง ดังนั้น มวลชนที่เผชิญหน้ากับทหารต้องได้รับการถ่ายรูป ถ่ายภาพว่ามีมือเปล่า ปราศจากอาวุธและสิ่งเทียมอาวุธ จะต้องไม่มีกลุ่มฮาร์ดคอร์ที่ไม่รู้เหนือ รู้ใต้ หรืออาจเป็นเหลืองปลอมมาเหมือนครั้งสงกรานต์จะมาทำระเบิดขวด เอาไม้หน้าสามมาส่งให้ เอาสิ่งเทียมอาวุธอื่นๆ มาส่งให้เพื่อให้มวลชนมีความผิดเข้าองค์ประกอบที่ทหารจะใช้เป็นข้ออ้างในการสังหารได้ ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนที่ไม่รู้เท่าทันต้องสูญเสียอีก

นอกจากนั้นจะต้องไม่ให้มีการสร้างเงื่อนไขการก่อวินาศกรรม การทำลายไฟจราจร(ซึ่งพวกสร้างสถานการณ์มักจะเป็นผู้ทำ) มวลชนต้องไม่ยินดีกับการกระทำนั้นเพราะหมายถึงชีวิตของพี่น้องประชาชนเอง ต้องจับกลุ่มสร้างสถานการณ์หรือกลุ่มฮาร์ดคอร์ถ้าเป็นฝ่ายเรามาลงโทษเสียก่อนจะเกิดความเสียหายร้ายแรง

การป้องกันไม่ให้มีข้ออ้างในการใช้อาวุธและผลักดันให้ทหารต้องใช้อาวุธเนื่องจากคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะเป็นชัยชนะของประชาชนต่อฝ่ายอำมาตย์ที่พยายามสังหารประชาชนอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ชัยชนะของฝ่ายประชาชนยังอยู่ที่การเข้าไปแวดล้อมเหล่าทหารไม่ให้รวมกันติด ตัดแยกเป็นส่วนๆ ด้วยมวลชนมือเปล่า พูดคุยในระยะประชิดตัว (การอยู่ห่างเกินกว่า 30 เมตรอาจถูกสังหารได้ง่ายกว่าอยู่ใกล้ด้วยคนจำนวนมาก ภาพการยืนประจันหน้าร้องท้าทาย ยกไม้ ยกระเบิดขวดขว้างต้องไม่มีเกิดขึ้นในการชุมนุมที่ต้องการจะได้ชัยชนะ)

หากทหารจะเข้ามาปิดล้อมเพื่อกันผู้สื่อข่าวต่างประเทศ มวลชนต้องสกัดกั้นไม่ให้เกิดการล้อมปราบได้ ด้วยการปิดล้อมด้านหลังและด้านข้างของทหาร เมื่อมวลชนไปโอบล้อมทหารเหมือนกับน้ำที่ไหลไปทั่ว กลุ่มผู้สร้างสถานการณ์รอบนอก ก็จะถูกจับได้ง่ายเพราะมวลชนมีขอบเขตสายตาที่กว้างขวาง เพราะจัดการให้มีการหมุนเวียนมวลชนเข้าและออกพื้นที่อยู่ตลอดเวลา จนทหารไม่สามารถปิดล้อมได้

เมื่อใดจะทำการปิดล้อมเส้นทาง มวลชนก็เข้ามาเปิดเส้นทางตลอดเวลาด้วยมือเปล่าจำนวนมาก การปิดกั้น ปิดล้อมก็ไม่สามารถทำได้ ประการสำคัญคือ มวลชนต้องรู้จักกัน ไปกันเป็นคณะ แกนนำต้องมีแผนที่อยู่ ที่ตั้ง และจำนวนของมวลชนจัดตั้งที่แน่นอน ส่วนประชาชนที่มาร่วมอย่างอิสระนั้นให้อยู่ในบริเวณกึ่งกลางไม่ให้มีผู้แทรกเข้ามาสร้างสถานการณ์ได้ ก็จะเป็นการปิดเงื่อนไขการใช้อาวุธของทหารจนหมดสิ้น

เมื่อทหารไม่สามารถใช้อาวุธได้ อำนาจของฝ่ายอำมาตย์ก็จบสิ้นลง และไม่แน่หากมวลชนไปปิดล้อมทหารให้แยกเป็นส่วนๆ ไม่สามารถรวมกันติดแล้ว และมีการพูดคุยให้ความรู้ทางการเมืองได้มากพอ ทหารเหล่านั้นอาจกลับมาเป็นฝ่ายประชาชนก็เป็นได้ ใครจะไปรู้

สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ แกนนำต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและเป็นระบบ กับมองภาพสุดท้ายให้ออกว่า พาคนเรือนล้านมาชุมนุมเพื่ออะไร ชัยชนะอยู่ตรงไหน การต่อสู้ทางชนชั้นที่แกนนำพร่ำพูดอยู่ตลอดเวลานั้นจะบรรลุผลได้อย่างไร เพราะถ้าเริ่มพูดถึงชนชั้นหรือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ลำพังการยุบสภาคงไม่ใช่ชัยชนะขั้นสุดท้ายแน่ แล้วคำตอบคืออะไรอยู่ที่ไหน แต่ถ้าหากปล่อยโอกาสให้หมดไปกับการขึ้นเวทีปราศรัยเสียแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสแก้ตัวครั้งต่อไปอีกแล้ว

ตามความเห็นของผู้เขียน รัฐบาลพลัดถิ่น ที่ใครๆต่างดาหน้าออกมาบอกว่าทำไม่ได้นั้นเป็นคำตอบสุดท้าย

ที่มา: ผนวก FM 100-23 APPENDIX - D

 



ผู้ตั้งกระทู้ ผนวก FM 100-23 APPENDIX :: วันที่ลงประกาศ 2010-03-11 18:04:21


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.