สรุปประเทศไทย
1. ประเด็นการปฏิรูปการปกครองโดยมีการปฏิวัติยึดอำนาจเก่าของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในวันที่ 19 ก.ย. 2549 แล้วมาเป็นรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ในเดือนตุลาคม 2549
บทสรุปเมื่อเวลาผ่านมาถึงบัดนี้เป็นเวลา 1 ปีกับ 1 เดือนเศษ ๆ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หรือที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับคมช. ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นั้น น่ามีการวิเคราะห์ดูว่า คปค. นำโดยพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน กับพรรคพวก ได้ทำการปฏิรูปการเมือง ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ไปทำไม มีความชอบธรรมเพียงใดหรือไม่ แล้วเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล มีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) รัฐบาลและคมช.ได้ทำอะไรมีผลงานอะไรบ้าง และที่สำคัญประเทศไทยได้อะไรจากการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ บัดนี้ก็พอสรุปได้ชัดเจนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลและคมช.ไม่มีความสามารถทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ประเทศชาติมิได้ประโยชน์อะไรเลยจากคณะปฏิรูป มิได้เห็นความก้าวหน้าไปกว่าเดิม แต่กลับทรุดลงไปอีก ตลอดเวลา 1 ปีกับ 1 เดือนที่มีคปค. มีรัฐบาล และมี คมช.อยู่ในอำนาจได้ทำการบริหารผลประโยชน์ของชาติถดถอยลงไปทีละน้อย ๆ จนขณะนี้บังเกิดผลทำให้การทางเศรษฐกิจฝืดเคืองลงไป ประชาชนประสบปัญหาและลำบากยากจนลงไปตามลำดับ ดังที่มีสิ่งบอกเหตุถึงความตกต่ำหายนะชัดเจนขึ้นมาทุกขณะ ที่น่าสังเกตเป็นข้อสำคัญก็คือขณะทำการปฏิรูปในเดือนกันยายน 2549นั้น รัฐบาลทักษิณกำลังทำงานหนัก เพื่อบุกเบิกนโยบายใหม่ ที่ข้ามเขตข้ามแดน ข้ามทวีป ข้ามโลกไป เพื่อความร่ำรวยของประชาชนคนไทยและประเทศไทย ด้วยการบุกเบิกตลาดสินค้าต่างประเทศ แน่นอน การกล่าวหาว่าโกงนั้นก็เป็นเพียงข้อกล่าวหา บุคคลย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกล่าวหาฟ้องร้องได้เสมอ แต่โดยหลักนิติธรรมแล้วควรคำนึงว่าผู้ถูกกล่าวหาตราบใดที่ยังไม่มีการตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายแล้วก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และบุคคลย่อมมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายทางศาลได้เช่นเดียวกัน นั่นเป็นความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย เช่นกรณีในสิงคโปร์ ที่ผู้นำประเทศนั้นทำการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหนังสือพิมพ์ Far Eastern Economic Review และผู้นำฝ่ายค้านของสิงคโปร์ ในข้อหาร่วมกันใส่ร้ายหมิ่นประมาทผู้อื่น ซึ่งศาลได้ตัดสินให้ฝ่ายจำเลยแพ้คดีต้องชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้องจำนวนมหาศาล จนฝ่ายจำเลยผู้นำฝ่ายค้านถูกสั่งให้ล้มละลายเพราะไม่มีเงินชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งศาล และทั้งยังต้องติดคุกชดใช้แทนค่าเสียหายอีกด้วย นี่น่าเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญ คมช.ก็กล่าวหารัฐบาลทักษิณในทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งสะท้อนชัดเจนขึ้นมาตลอดเวลาที่ผ่าน ๆ มาว่ามีเจตนาเป็นปฏิปักษ์ส่วนตัว ถึงต้องพยายามตลอดมาในการใส่ร้ายป้ายสีเพื่อให้เกิดแนวร่วมขึ้นกวาดล้างอำนาจเก่า
2. ในด้านการสร้างสรรค์ รัฐบาลคมช.ก็มิได้ปรากฏผลงานอะไร เสมือนว่าไม่ได้ทำอะไร แต่กลับทำลาย ดังจะเห็นว่า ในขณะนั้น สนามบินสุวรรณภูมิอันโอ่อ่า กำลังเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศและเอเชีย และประชาชนทั้งชาติกำลังชื่นชมยินดี มีความสุข มองว่าสุวรรณภูมิ นามพระราชทาน คือขวัญใจแห่งชาติ กำลังพัฒนาไปทุกด้าน แม้ด้านที่เป็นสถานท่องเที่ยวที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่สงบจิต ที่ภาคภูมิใจของประชาชนทั้งชาติ แห่มาท่องเที่ยว มาปิ๊กนิก พาครอบครัว ลูกหลานมาพักผ่อนนอนเล่น สบาย ๆ ไร้กังวล จนจะเกิดเป็นประเพณีอันน่าชื่นชมยินดีขึ้นมาแล้ว แต่สิ่งที่น่ายินดีนี้กลับหยุดชงักลงพลันที่มีคมช.มาถึง และก็ไม่มีความสามารถที่จะบริหารสืบสานความดีงามนี้ต่อไปได้ กลับไปทำสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยทำลายแผนการเพื่อความชื่นชมของประชาชนต่อสนามบินสุวรรณภูมิและผลประโยชน์ของชาติจากสนามบินสุวรรณภูมิไปเสียอย่างน่าเสียดาย พอ ๆ กับทำลายความสุขวันปีใหม่ 2550 ของประชาน ที่ปล่อยให้เกิดระเบิดขึ้นถึง8 จุดในกรุงเทพมหานคร อีกตัวอย่างหนึ่งทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนก็คือนโยบายสินค้าโอทอปที่กำลังดังและขึ้นชื่อไปในต่างประเทศและประชาชนทั่วประเทศกำลังกระตือรือร้นสร้างสรรค์งานตามวิถีนโยบายโอทอป แต่รัฐบาลรู้เท่าไม่ถึงการณ์ชั้นเชิงจิตวิทยาการตลาด ไปเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ โดยเหตุผลว่าชื่อโอทอป ไม่มีความเป็นไทย อ้างว่าเพื่อความเป้นไทย เพื่อวัฒนธรรมไทย หารู้ไม่ว่าพอเปลี่ยนชื่อใหม่แล้วก็ไม่มีประเทศใดรู้จัก แล้วโอทอปก็ลดถอยพลังลงไปจนเงียบสนิทในขณะนี้ น่าเสียดายจริง ๆ โอทอปก็เลยหดหายไป ขายไม่ออก ประชาชนก็เสียหาย รายได้ของประเทศชาติของประชาชนระดับท้องถิ่นก็หดหายไป และซ้ำตลอดเวลารัฐบาล คมช. ก็ไม่เคยสนใจขยายตลาดสินค้าไทยออกไป ทำให้การค้าไทยสูญเสียประโยชน์ลงไปเรื่อย ๆ นี่เป็นเพียงตัวอย่างว่า การปฏิรูปเพื่ออะไร? และบทสรุปก็คือ ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
3. คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มีบทบัญญัติจำนวน 39 มาตรา เพื่อกำหนดลักษณะอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน และแนวการบริหารสำหรับรัฐบาลใหม่ของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ใช้เป็นแม่บทบริหารประเทศต่อไป ส่วน หน.คมช. ก็มาสู่ตำแหน่ง ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) อยู่เบื้องหลังรัฐบาลปฏิรูป แล้วตลอดเวลาที่อยู่ในอำนาจก็วางแผนสืบทอดอำนาจ ครั้นเกษียณจาก ผบ.ทบ. ก็เคลื่อนตัวเองไปสู่ตำแหน่งการเมือง แม้ไม่ได้เป็นหมายเลขหนึ่งก็ขอเป็นหมายเลขสอง เพื่อสืบทอดอำนาจ และเห็นได้ว่าจะควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปในทิศทางที่ประสงค์ ของคมช. นั่นคือขจัดปรปักษ์ทางการเมืองและส่วนตัว ดังที่ประชาชนได้เห็นท่าทีที่เปิดเผยของพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน มาตั้งแต่ต้น จนถึงบัดนี้ คือความพยายามกำจัดอำนาจเก่าให้สิ้นไป โดยไม่ชอบธรรม และทั้งไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตยเลย แท้จริงหน.คมช.ได้มีท่าทีดูแคลนประชาชนมาตั้งแต่ต้น เพราะเหตุที่การปฏิรูปการปกครองคราวนั้น เป็นการล้มล้างอำนาจรัฐของประชาชน ที่มาจากประชาชน การปฏิรูปฯจึงเป็นการดูแคลนประชาชน เหยียดหยามบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถึงสองครั้งสองคราวที่ลงคะแนนเลือกพรรครัฐบาลชุดก่อนของทักษิณ ชินวัตร ที่ได้คะแนนท่วมท้นไม่ต่ำกว่า 16 และ 13 ล้านเสียง ทั้งสองครั้ง นั้นแสดงถึงการดูแคลนประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และจะได้รับผลของการดูแคลนจากคนทั้ง 16-13 ล้านเสียงนั้น อันเป็นตัวอย่างสำหรับชนรุ่นหลังได้ย้อนกลับมาดูอย่างพิศวงต่อไป ในขณะนี้ก็ยังมีความเคลือบแคลงของวงการต่าง ๆ ต่อไปว่า พล.อ.สนธิ จะยอมรับผลการเลือกตั้งคราวหน้าอย่างไร แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เสียงประชาชนย่อมเป็นใหญ่ เพราะเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ นี่เป็นหลักการของประชาธิปไตย
ทำไมจึงมีการปฏิรูปการปกครองเกิดขึ้นในวันที่ 19 ก.ย. 2549 จึงได้คำตอบในเวลาบัดนี้ว่า ไร้สาระอะไร มีแต่เรื่องความแค้นส่วนตัวต่อรัฐบาลเก่า มิได้มีเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน ของประเทศชาติในส่วนรวมเลยแม้แต่น้อย
4. คำถามสำคัญในวันนี้ก็คือ ประชาธิปไตยไทยได้พิศูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศไทยได้ด้วยตนเองด้วยวิถีทางประชาธิปไตย นี่เป็นความจริงเพียงใด?
เห็นได้ว่ามีคำตอบอยู่แล้ว คือ จริง ประชาธิปไตยไทยยังเอาตัวเองไปไม่รอด เพราะข้อสรุปก็คือ ประชาธิปไตยอย่างไทย ๆ ก็เป็นเช่นนี้ คือมีแต่ความจอมปลอมและคนไร้ทั้งความรู้และไร้ทั้งวัฒนธรรมทางการเมือง เห็นจากบทบาทของคนและสถาบันหลายกลุ่ม นับตั้งแต่สถาบันการศึกษาเอง นักวิชาการ ครูอาจารย์ในสถานศึกษา สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สถาบันการเมืองเอง ตลอดไปถึงพรรคการเมืองเอง ถึงการสื่อสารมวลชนโทรทัศน์ ที่บ่งบอกประชาธิปไตยแบบด้อยพัฒนาในประเทศของเรา ที่เป็นเหตุปัจจัยปิดกั้นมิให้บ้านเมืองเราเจริญไปได้
ในขณะนี้ วงการเมืองของไทยเรา แสดงออกถึงความอ่อนด้อยในอุดมการณ์และด้อยความสามารถของนักการเมืองไทย พรรคการเมืองไทยไปทั้งสิ้น ในขณะนี้ เห็นนักการเมือง แม้กระทั่งระดับหัวหน้าและผู้นำพรรคการเมืองไทยย้ายสังกัดพรรค อย่างที่ไม่คำนึงว่าตอนตั้งพรรคของตนขึ้นมานั้นตนมีอุดมการณ์อย่างไรในการรับใช้สังคมและประเทศชาติ และไม่คำนึงถึงประชาชนเลย และที่สำคัญก็คือ นักการเมืองไม่รู้นโยบาย สร้างสรรค์นโยบายขึ้นมาไม่ได้ ขณะนี้ แม้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแล้วไม่ถึง 2 เดือน ก็ยังไม่มีนักการเมืองคนใด พรรคการเมืองไหนที่แสดงให้เห็นว่าเขารอบรู้นโยบายขึ้นมาเลย หากจะอุปไมยอุปมาการเมืองไทยขณะนี้ก็คือ มีเกมกีฬาชนิดหนึ่งเปิดเวทีออกมาให้เล่นกัน นักการเมืองไทยก็พากันกรุ้ม ๆ กริ่ม ๆ เพียงนึกสนุกเท่านั้นเอง สำนึกของพวกเขาก็คือ สำนึกแห่งความใหญ่ มีความรู้สึกว่าใหญ่ ตนเองมีความสำคัญขึ้นมา ยิ่งใหญ่ที่สุดในแผ่นดินแล้วละเวลานี้ เท่านั้นเอง ก็กร้มกริ่ม พิจารณาแล้ว นักการเมืองไทยเราขาดทั้งความสามารถและจริยธรรมทางการเมือง ไม่มองการเมืองในฐานะสำคัญโดยนโยบาย คือในความคิดของนักการเมืองและพรรคการเมืองเอง ที่จะสร้างชาติสร้างประชาชนนั้นจะต้องทำอะไร และทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อคำนึงว่าในการนี้นักการเมืองจะต้องเริ่มด้วยการศึกษา คือทำงานการวิจัยกันอยู่ตลอดเวลา นักการเมืองจะไม่มีเวลาว่างเลย เพราะเวลาที่ว่างจะเอามาใช้ในการศึกษาวิจัยทดแทนไปทั้งหมด ซึ่งโดยแนวคิดทางงานการเมืองเช่นนี้เองจะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญทางการเมืองให้แก่ตนเองและพรรคการเมืองของตนให้เอาใจใส่และมุ่งหมายการสร้างงานที่เป็นจริงขึ้นมาเป็นรูปธรรมได้ แต่บัดนี้มองดูวงการเมืองไทยแล้วมิได้มีร่องรอยเลยว่ามีนักการเมือง พรรคการเมืองใดได้ทำงานการศึกษางานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นโยบายที่ทันสมัยทันความต้องการของประชาชนและสังคมโลก แต่นักการเมืองแทบมองไม่เห็นความจำเป็นและความสำคัญของการศึกษาวิจัยด้านนโยบายนี้เลย สิ่งที่นักการเมืองไทยทำมาตลอดเวลายาวนานก็คือ ฝึกหัดเพียงวาทะ และศึกษาข้อกฎหมาย เพียงเพื่อการเอาชนะเชิงวาทะเท่านั้นเอง โดยมองว่าวาทะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งจนเป็นสาระสำคัญหลักของการเมืองไปเลยทีเดียว นักการเมืองไทยจึงมีแต่วาทะมาโดยตลอด และไม่เคยพัฒนาตนเองไปสู่จุดที่เป็นแก่นสารสาระของการเมืองที่แท้จริงเลย และประการสำคัญต่อมาก็คือ นักการเมืองไทยนั้นก็ล้วนแต่เป็นคนยากจน แล้วไม่สำนึกว่านี่เป็นความด้อยที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจึงมองการเมืองด้วยความประมาทจริง ๆ อุปมาเหมือนความคิดจับเสือด้วยมือเปล่า ไม่เคยมีการตระเตรียมทางการเงินการงบประมาณไว้เลย ในรูปธรรมก็คือนักการเมืองไม่เคยมีธุรกิจการงานอะไรมาก่อน ส่วนมากมาจากมนุษย์เงินเดือน เมื่อแก่เกษียณแล้วก็เข้ามาสู่วงการเมือง และพาบุคคลิกภาพที่ถนัดในการเป็นผู้ตาม ขาดความริเริ่ม ขาดความกล้าที่จะเสี่ยง และการตัดสินใจในนโยบายใหม่ ๆ ไปทั้งสิ้น การเข้ามาสู่วงการเมืองด้วย การตระเตรียมทางการเงิน สร้างตัวนักการเมืองเองนั้น นั่นแหละบอกไปถึงความสามารถที่แท้จริงของนักการเมืองอย่างหนึ่ง หากนักการเมืองสามารถสร้างผลงานทางการงานการเงินมาก่อน นั้นน่าเป็นหลักประเมินความสามารถของบุคคลในระดับพื้นฐานชั้นหนึ่งก่อนที่จะมีสิทธิได้เข้าสู่วงการเมืองของประเทศ แต่นักการเมืองไทยไม่เคยได้ตระเตรียมเงินไว้ใช้ในกิจการการเมืองเลย ตามที่เห็นมีการย้ายพรรคกันอุตลุตขณะนี้ แท้จริงเป็นเพราะเรื่องเงินนี้เองเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจย้ายพรรค ใช่ว่ามีอุดมการณ์อะไรเลยก็เปล่า นี่จึงเป็นจุดที่บกพร่องอย่างยิ่งใหญ่อีกจุดหนึ่งในวงการเมืองไทย จึงจำเป็นที่นักการเมืองรุ่นใหม่ ๆ จะต้องมองเสียแต่แรกเริ่มว่า ชีวิตนักการเมืองระดับมาตรฐานสากลนั้น เรื่องความสามารถในการหาเงินทองมาใช้บริหารและการดำเนินนโยบายหรืออุดมการณ์ส่วนตัว หรือของพรรคการเมืองนั้นมีความจำเป็น และความสามารถในการสร้างตัวสร้างความร่ำรวยหรือความเพียงพอทางการเงินขึ้นมาได้ก่อนการเข้าสู่วงการเมืองนั้น จะเป็นสิ่งบอกเหตุถึงความสามารถและเป็นประกันชั้นหนึ่งในการจะนำประเทศชาติและประชาชนไปสู่ความสำเร็จ หากนักการเมืองไร้ความสามารถแม้การประกอบอาชีพการงานเลี้ยงตนเองและครอบครัวแล้ว จะสามารถในการทำมาหาเลี้ยงประเทศชาติที่ใหญ่โตได้อย่างไร หากเอาความยากจนมาสู่การเมืองแล้ว ไร้อุดมการณ์เสียอีก นั่นก็จะทำการเมืองโดยรวมเสียหายเพราะจะเกิดการปั่นป่วนไร้ระเบียบวินัยไปอย่างไม่รู้จบ ทั้งก่อนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองและหลังการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองแล้ว แต่เมื่อปรากฏในวงการเมืองไทยอยู่เช่นนี้ ก็ยังต้องด้อยพัฒนา(underdeveloped)ต่อไป จนกว่าจะรู้อะไรอะไรเกี่ยวกับสัจธรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองดีขึ้น และสังคมเราคงต้องได้รับการอบรมเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองไปเป็นระยะ ๆ โดยคณะปฏิวัติ หรือคณะปฏิรูป ซึ่งจำเป็นต้องมาเป็นระยะ ๆ เหมือนกัน จึงน่าจะเป็นการอบรมงานการเมืองแบบหนึ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมแบบไทย จึงจะพอช่วยให้กระเตื้องขึ้นได้
5. เราเห็นว่า การพัฒนาหลักทางการเมืองก็คือ ต้องมองว่าประชาชนต่างมีความแตกต่างทางผลประโยชน์ เราต้องยอมรับว่าจะต้องมีการต่อสู้กันในเชิงผลประโยชน์ของใครของมัน ก็โดยมีรูปธรรมที่ปรากฎชัดขึ้นในรูปกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มต่าง ๆ จะต้องต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตน โดยการเลือกนโยบายอย่างไร
การเมืองของประชาชนจะต้องมีความเข้าใจตรงกันว่า นั่นก็คือสิทธิในการเลือกนโยบาย นี่คือการตัดสินใจทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิอันสูงสุดที่การเลือกนโยบาย เพราะโดยวิธีนี้ ย่อมทำให้ความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองสามารถรอมชอมกันได้โดยการมีสิทธิเลือกนโยบาย ยอมรับโดยวัฒนธรรมประชาธิปไตยในการมีสิทธิเลือกนโยบาย และทุกฝ่ายในระบอบ จะต้องเคารพกฎกติข้อนี้ประเด็นนี้ โดยสิทธิของการเลือกนโยบายที่แตกต่าง หลายหลาก และยอมรับในสิทธิและความชอบธรรมของการเลือกนโยบายนั้น
หมายความว่าเรื่องความคิดเห็นหรือความต้องการทางผลประโยชน์ที่แตกต่างจะจบลง เมื่อการเลือกนโยบายเสร็จสิ้นลงโดยชอบธรรมตามกติกาที่ตกลงกันแล้ว นั่นคือข้อยุติ และจริยธรรมทางการเมืองโดยความเคารพในกติกา ความยึดบรรทัดฐานแห่งกติกาการเมืองกันทุกฝ่าย เช่นนี้ประเทศชาติจึงจะเจริญไปได้ ถ้าการเมืองปราศจากกติกาไม่มีความเคารพในกติกา มีวาทะโต้แย้งถกเถียงกันไม่รู้จบอวดดีอวดฉลาดอย่างไร้หลักการ และไร้ความเคารพในกติกา ทั้งไม่รู้แน่ชัดในสัจธรรมการเมืองเอาแต่ดื้อดึงไม่ฟังเหตุฟังผลแล้ว บ้านเมืองก็พินาศ
ในด้านนโยบาย ในเมื่อแม้ขณะจะมีการเลือกตั้งแล้วขณะนี้ ก็ยังไม่มีนักการเมืองและพรรคการเมืองใดเอ่ยถึงนโยบายออกมาเลยแม้แต่พรรคเดียว คนเดียว นั่นเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าการเมืองไทยยังอ่อนด้อยอย่างยิ่ง เพราะข้อสรุปก็คือ หากการเมืองไร้นโยบายเสียแล้ว ก็ย่อมหมายถึง นักการเมือง และพรรคการเมือง แม้ประกาศว่าพร้อมที่จะเข้ามาบริหารประเทศนั้น แท้จริงเขายังไม่รู้เลยว่าจะพาประเทศชาติและประชาชนเดินไปสู่ความรุ่งโรจน์ได้อย่างไร ทางข้างหน้าจึงย่อมมีแต่ความเลื่อนลอยและฝ้ามัว ไปจนถึงมืดมนลง เนื่องจากพากันเดินไปอย่างไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้งานที่จะทำ และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็จบ
เราจึงขอเสนอนโยบายเพื่อนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ยังไร้อุดมการณ์และความคิดได้พิจารณาดูว่าท่านจะสามารถเอามาทำได้หรือไม่ ท่านจะสร้างนโยบายอย่างหลายหลากอย่างนี้ได้เพียงไร
นโยบาย 30 บาททุกโรค, หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์, ทุนการศึกษาคนจน- ผู้อยากเรียนได้เรียน, เรียนก่อนจ่ายทีหลัง, ทุนแพทย์ 1 อำเภอ, นโยบายบ้านเอื้ออาทร, นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง, สหกรณ์การเกษตร, ระดับราคาที่มีเสถียรภาพ, การไฟฟ้าสาธารณูปโภค, การคมนาคมของท้องถิ่น, ระบบน้ำดื่มน้ำใช้, ระบบน้ำเพื่อการเกษตรกรรม, ขจัดความยากจนทั่วประเทศ, เมกกะโปรเจกต์เพื่อการมีงานทำ, กองทุนหมุนเวียน, SML, ฯลฯ
และขอเสนอประชาชนให้ลองนึกดูว่าเคยมีนโยบายที่หลายหลากเหล่านี้มาก่อนหรือไม่? เราอยากให้นักการเมืองพรรคการเมืองและประชาชนทั้งปวงรับฟังไว้เป็นอุทาหรณ์และเป็นแบบอย่างของงานการเมืองต่อไป.
- หนังสือพิมพ์ดี(อินเทอเนท)
3 พ.ย.2550